นายไพบูลย์ บุรณสันติ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) รวม 8 เส้นทางกระจายตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ เป็นหมู่บ้านที่กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้าไปสนับสนุนงบประมาณให้กับจังหวัดเพื่อดำเนินการพัฒนาทั้งในด้านความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนการส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชน ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ การพัฒนาพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน การค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น รวมถึงอาหารพื้นถิ่น จนกระทั่งชุมชนเหล่านี้เกิดความเข้มแข็งและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากถิ่นอื่น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชม พร้อมจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ทั้งยังก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน OTOP ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร OTOP Village เส้นทางที่ 7 วิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง จำนวน 7 หมู่บ้าน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม โดยแต่ละหมู่บ้านที่คัดเลือกมาล้วนมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ดังนี้ หมู่บ้านตามุย จ.อุบลราชธานีชุมชนเล็กๆริมแม่น้ำโขง ที่มีการร่วมแรงอย่างเข้มแข็งของคนในชุมชน สร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนรอบด้านเพื่อพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพ ได้แก่ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านตามุย เสื่อเตยจากกลุ่มงานประดิษฐ์บ้านตามุย ดอกกระเจียว จากกลุ่มอาหารบ้านตามุยสำหรับกิจกรรมเมื่อมาเยือนบ้านตามุยที่ห้ามพลาดคือการลงเรือล่องแม่น้ำโขงชมความมหัศจรรย์ของ “เก้าพันโบก” และทิวทัศน์สองฝั่งโขงอันสวยงามหมู่บ้านสองคอน จ.อุบลราชธานี
วิถีชีวิตบ้านสองคอนจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขง"สองคอน" เป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำโขง ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำโขงจะไหลเป็นสองทางชาวบ้านเรียกว่า "คอนปากบ้อง" กับ "คอนสิ่ว" จุดเด่นของที่นี่คือผลิตภัณฑ์ OTOP มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานจักสาน งานทอผ้า และอีกหนึ่งสิ่งที่ห้ามพลาดคือแหล่งท่องเที่ยว สามพันโบก หรือแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ซึ่งการมาเที่ยวสามพันโบก นักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือจากหาดสลึงที่บ้านสองคอน ล่องตามลำน้ำโขงระยะทาง 4กิโลเมตร ระหว่างทางจะผ่าน "ปากบ้อง" จุดแคบที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งมีความกว้างเพียง 56เมตร และ "หินหัวพะเนียง" เป็นแก่งหินกลางแม่น้ำที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอน ในภาษาท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านสองคอน"
หมู่บ้านโพนขวาว จ.อำนาจเจริญ มีอาชีพที่มีลักษณะพิเศษและทำติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนคือ การทำน้ำตาลจากต้นตาล (ตาลโตนด) สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านบ้านโพนขวาวในช่วงฤดูหนาวเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีอาชีพเสริมผลิตภัณฑ์ส่งออกคือ การนำเศษผ้ามาเย็บติดต่อกันเพื่อทำเป็นผ้าห่มกันหนาว ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะคุณภาพดีและราคาถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อตามท้องตลาดทั่วไป และการทำหมอนฟักทอง หมอนปักจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีวัดบ้านโพนขวาวซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหอไตรเก็บพระไตรปิฎกที่มีการสร้างด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม
หมู่บ้านหนองหล่ม จ.มุกดาหารรอยยิ้ม สายน้ำ วัฒนธรรมสองฝั่งโขง มีที่นี่บ้านหนองหล่ม หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ด้วยความงดงามของทัศนียภาพริมฝั่งโขง สามารถล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งโขง อีกทั้งชมการเกษตรบนเกาะแก่ง กลางแม่น้ำโขง ชมวิถีชีวิตชุมชนชาวบ้านพร้อมต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดีตามวิถีผู้ไทยที่อบอุ่น การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP เช่น ผ้าห่มทอมือ ข้าวกล้อง เสื้อเย็บมือ และยามรุ่งเช้าร่วมทำบุญตักบาตรรับบรรยากาศริมโขง
รวมถึงการเที่ยวชม หรือปีนเขา ณ แหล่งท่องเที่ยวภูผาเทิบชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไหว้พระพุทธรูปที่เก่าแก่อายุ 1,200 ปีหมู่บ้านภู จ.มุกดาหารบ้านภู หมู่ที่ 1,2 ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง เป็นหนึ่งหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดมุกดาหาร ปี 2549ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย 3 ปีซ้อนอีกทั้งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยวมามากมาย ด้วยอัตลักษณ์ชุมชนคือการดำเนินชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ เน้นแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาชีพหลัก คือการทำนา และจะปลูกพืชผักสวนครัวหลังฤดูเก็บเกี่ยว การแต่งกายให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมครามแถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้หญิงในหมู่บ้านภู จึงต้องทอผ้าเก่ง โดยเฉพาะการทอผ้าไหม และผ้าหมักโคลน ผ้าฝ้าย ที่สืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งขึ้นชื่อและสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างมาก
หมู่บ้านนาถ่อน จ.นครพนมชาวบ้านนาถ่อน มีเชื้อสามาจากเผ่าไทยกวน อพยพมาจากเมืองป่ง สปป.ลาว เมื่อประมาณ 250 ปีมาแล้ว ทำให้หมู่บ้านนี้ยังคงวัฒนธรรมไทกวน มีประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่โดดเด่น โดยเฉพาะการตีมีด และการทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนท้องถิ่นโบราณ จนมีคติพื้นเมืองชนเผ่าไทยกวนว่า “พอเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” และสุดท้าย หมู่บ้านท่าเรือ จ.นครพนมหมู่บ้านแห่งเสียงดนตรีริมโขง ซึ่งมีความงามแห่งอัตลักษณ์ชุมชน บนวิถีแห่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน แหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้รับฉายาว่า “หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี”ภูมิปัญญาในด้านการทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน คือ การทำแคน พิณ โหวต โปงลาง นับเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างคุณค่า และรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีการทอผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ ประณีต มีลวดลายพื้นบ้านชาวบ้านท่าเรือในวันนี้ พร้อมยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมเรียนรู้ เพื่อช่วยกันสืบสานคุณค่าแห่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป
*****************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น