pearleus

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

ปกป้องหัวใจแบบองค์รวม รพ. หัวใจกรุงเทพเปิดตัว Preventive Heart and Lipid Clinic ก่อนภาวะเสี่ยง

เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ที่ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี การป้องกัน (Prevention) ปัจจัยเสี่ยงแต่แรกเริ่ม เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันคนวัยเจนใหม่ ให้ห่างไกลจากโรคหัวใจกันมากขึ้น รพ.หัวใจกรุงเทพ เปิดตัวคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน (Preventive Heart and Lipid Clinic) เพื่อการดูแลหัวใจแบบองค์รวม เพราะหัวใจของเรามีเพียงแค่ดวงเดียว 

นพ ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการอาวุโส รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 – 2014  คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจ (ischemic heart disease IHD) และหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 24 และร้อยละ 41.3 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ที่เพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจ จึงจัดแคมเปญ  “ดูแลหัวใจคุณ... ด้วยหัวใจเรา” MY HEART, YOUR HEART   ในเดือนรณรงค์วันหัวใจโลก  พร้อมเปิดคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน (Preventive Heart and Lipid Clinic) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในอนาคตโดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันให้น้อยที่สุด


รวมไปถึงการให้ข้อมูลความรู้แบบองค์รวมแก่ผู้ป่วย ครอบครัว ในการดูแลและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคหัวใจ แล้วยังช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการและการวินิจฉัยให้ได้มาตรฐานวิชาชีพระดับนานาชาติและเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โดยจัดให้มีโปรแกรมการตรวจหัวใจ 2 แบบ คือ 1 Primary screening program เริ่มต้นด้วยการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ยังไม่มีอาการ และหาแนวทางป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอด
เลือดหัวใจ 2. Secondary preventive program ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว จะได้รับการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต พร้อมได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจเพื่อชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าที่สุดและป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

จุดเด่นของคลินิกนี้ คือ 

1. One-stop service for heart check-up and preventive program ให้การค้นหาโรคหัวใจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และให้การป้องกันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเกิดตะกรัน (Plaque) ที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดตามร่างกาย
2. Personalized Medicine เป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพหัวใจยุคใหม่ ที่ทุกคนจะมีแนวทางปฏิบัติเป็นของตัวเอง การเลือกยาที่ตรงกับพันธุกรรมของตนเอง การเลือกชนิดอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง รวมไปถึง โปรแกรมการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่แตกต่างตามสาเหตุและความเสี่ยงของตนเอง
3. Registry and monitoring ข้อมูลสุขภาพ ผลการตรวจเลือด พยาธิสภาพหลอดเลือดของผู้ป่วย จะถูกเก็บเข้าเป็นระบบในฐานข้อมูลคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน พร้อมทั้งมีการเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเฝ้าติดตามรอยโรคเป็นระยะๆหากพูดถึงการป้องกันโรคหัวใจ (Prevention Heart) ในปัจจุบันควรเริ่มการเริ่มป้องกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดูแลอาหาร การรับประทาน และการตรวจร่างกายแต่เนิ่นๆ ว่ามีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือประวัติครอบครัวที่มีปัจจัย
เสี่ยงหรือไม่ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยเสี่ยงทางร่างกายที่สามารถป้องกันได้ คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ 2.พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ แต่การป้องกันโรคดีและสำคัญกว่าการรักษาโรค

ดังนั้นเราควรตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันหัวใจให้ห่างไกลโรคกับพฤติกรรม 8 อย่าง ที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยเพื่อป้องกันโรคหัวใจไปตลอดชีวิต ได้แก่ เลี่ยงอาหารอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เพราะไขมันทรานส์เป็นการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชให้คงสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว ถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น เบเกอรี่ โดนัท คุกกี้ ครีมเทียม เนยเทียม และอาหารประเภทจังส์ฟู้ด ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มระดับของไขมันไม่ดี (LDL) ในร่างกาย ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมาหากบริโภคในปริมาณมากและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน สิ่งที่ควรระวังในปัจจุบันคือ โรคหัวใจและหลอดเลือดมักพบในคนรุ่นใหม่ อายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคปัจจุบันนอนน้อยทำให้ร่างกายซ่อมแซมช้า การทำกิจกรรมน้อยลง เล่นมือถือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การเคลื่อนไหวน้อยลง ออกกำลังกายช่วยหัวใจแข็งแรงในระยะยาว การออกกำลังกายแบบ Fat-burn เป็นการออกกำลังกายในช่วงอัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสม และมีสัดส่วนการเผาผลาญไขมันมากที่สุด ที่ 70% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดในแต่ละช่วงอายุ

โดยมีสูตร 0.7 x (220 - อายุ) จะเท่ากับอัตราเต้นของหัวใจที่เหมาะสม การออกกำลังกายในระดับปานกลางใช้ระยะเวลาประมาณครั้งละ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยรักษาอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม หรือการเดินออกกำลังกายตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ว่า เดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน จะช่วยบริหารหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรง โดยเลือกรูปแบบของการออกกำลังกายที่ชอบในแบบที่ใช่ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความจูงใจในการออกกำลังกาย จัดการความเครียดให้อยู่หมัด

เพราะการพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีช่วงเวลาก็การพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายจัดการกับความเครียด หลายคนเลือกการออกกำลังกาย หรือการทำสมาธิก็เป็นวิธีที่ง่าย และเห็นผลได้ ฮอร์โมนเครียดยิ่งน้อยเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะมีการอักเสบทั่วร่างกายก็จะลดลง ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ถึงแม้จะรับประทานอาหารที่มีไขมันดี แต่ถ้าพักผ่อนน้อยแถมมีความเครียดสูงก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อร่างกาย นอน
หลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ละคนจะมีนาฬิกาเวลาของตัวเอง เป็นเหมือนกฎธรรมชาติ การอดนอนหรือพักผ่อนน้อยจะมีผลเสียต่อฮอร์โมนเกิดความเครียด การนอนหลับจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าอยากให้หัวใจแข็งแรง ควรนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และจะต้องนอนหลับลึก (Deep sleep) เพื่อให้สมองและหัวใจได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ใช่จำนวนชั่วโมงเพียงอย่างเดียวที่สำคัญ คุณภาพการนอนต้องดีด้วยหากเรานอนกรนหรือตื่นมาแล้วไม่สดชื่นควรตรวจเช็กสุขภาพการนอนกับแพทย์ โดยเฉพาะอาชีพที่เข้างานเป็นกะหรือเป็นช่วงที่นอนน้อยติดต่อกันหลายวัน ควรต้องมีช่วงพักผ่อน (Vacation time) ให้ยาวขึ้นเป็นการชดเชย

ระวังเบาหวาน ไขมัน ปัจจัยเร่งหลอดเลือดให้เสื่อมไว โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง ถ้าเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ ย่อมเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะโรคเหล่านี้เป็นตัวการเร่งให้หลอดเลือดมีความเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีการรับประทานยาควบคุมอาการ ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีอาการของหัวใจและหลอดเลือดแต่มีการรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็ช่วยให้สามารถคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับเกือบปกติได้ โดยระดับน้ำตาลควรอยู่ที่ประมาณ 70-100

มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพราะหากค่าสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ควบคุมระดับความดันเลือดให้เป็นปกติที่ความดันตัวบน 120 ความดันตัวล่างที่ 80 ในคนที่ตรวจพบตะกรันคราบหินปูน ณ จุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย เช่น หลอดเลือดคอ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ ควรควบคุมระดับไขมันในร่างกาย

ทั้งนี้ออกกำลังกายเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ และรักษาระดับของ HDL ไขมันดีให้มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร บุหรี่ตัวการใหญ่หลอดเลือดหัวใจไม่แข็งแรง การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจเท่ากัน เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่และสารอื่นๆ ในบุหรี่ มีผลทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ผนังเส้นเลือดหนา เกิดคราบหินปูนเกาะบริเวณหลอดเลือด เส้นเลือดเกิดความอ่อนแอเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ขาดออกซิเจนและหัวใจวายเฉียบพลันได้ วิตามินธรรมชาติบำรุงหัวใจ การเลือกรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอาหารบำรุงหัวใจ ได้แก่ อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 มีมากในปลาทะเล ปลาน้ำจืด เช่น ปลาทู ปลาช่อน ปลาแซลมอล โดยผลการศึกษาในวารสาร JAMA ระบุว่า การที่ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

ทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอลได้ สิ่งสำคัญคือ เรื่องเวลาพักผ่อน สร้าง Social relationship ลดความเครียดเพิ่มอายุขัย การสร้างสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม การออกไปรวมกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกันเล็กๆ จะช่วยนำมาซึ่งหัวใจที่แข็งแรง เช่น การทำกิจกรรมจิตอาสา การตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชน การเข้าชมรมหมู่บ้าน หรือแม้แต่การรวมกลุ่มออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ จิบน้ำชาในสภากาแฟ ได้พูดคุยสังสรรค์แลกเปลี่ยน แบ่งปันเรื่องราวระหว่างกันก็จะช่วยให้เกิดความสุขใจ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ Social Media เข้ามามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ การพูดคุยสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังไม่อาจช่วยให้รู้สึกดีได้เท่ากับการเห็นหน้าพูดคุยกัน บางครั้งการใช้โซเชียลมากเกินไป กลับยิ่งทำให้เกิดความเครียดจากการเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับชีวิตผู้อื่น เพิ่มขึ้นอีกด้วย


******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น