กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชานชนในช่วงพายุเข้า อาจมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เสี่ยงป่วยไข้หวัดใหญ่และปอดบวม ซึ่งปีนี้พบผู้ป่วยทั้งสองโรครวมกันแล้วเกือบ 3 แสนราย แนะวิธีป้องกัน “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.61 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “มังคุด” ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ อากาศมีความชื้นสูงขึ้น เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กันยายน 2561 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 107,520 ราย เสียชีวิต 18 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานอายุ 15 - 24 ปี รองลงมาคือ 25 - 34 ปี และ 35 - 44 ปี พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 188,351 ราย เสียชีวิต 139 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 55 - 65 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการไอหรือจามรดกัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย จะมีอาการ ปวดกล้ามเนื้อมาก และ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียเร็ว แต่สามารถหายเองได้ใน 5 - 7 วัน ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ปอดเรื้อรัง เบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรพบแพทย์ทันที วิธีป้องกัน
ควรยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัย ผ้า หรือ กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
จนกว่าจะหายเป็นปกติ
โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจาก สีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย ซึมลง หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อลดการเสียชีวิต วิธีป้องกันโรค คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และหมอกควันอากาศ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้า
เช็ดตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เย็นจัดหรือชื้นจัด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายในช่วงฝนตกหนัก โดยเฉพาะการขับขี่ยานพาหนะ ควรลดความเร็ว หลีกเลี่ยงการแซง ประเมินสถานการณ์ก่อนขับรถผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาจะทำให้ถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี รวมถึงควรนำร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทีสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*****************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น