คุณกษมา กองสมัคร ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยในโครงการมีการจัดทำนิยามอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมในทุกมิติของห่วงโซ่มูลค่า รวมถึงการศึกษามูลค่าของอุตสาหกรรม ซึ่งประเมินจากรายได้ของผู้ประกอบการอันเกิดจากกิจกรรมด้านการขาย การให้บริการปรึกษาและติดตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าที่เกิดขึ้นในปรเทศไทย โดยครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมทั้ง 3 ประเภท คือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และผู้ให้บริการที่ปรึกษาหรือติดตั้งดูแลระบบ
โดยเมื่อจำแนกตามประเภทเทคโนโลยี พบว่างานบริการมีมูลค่าสูงที่สุด คือ 6,462 ล้านบาท ตามด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 3,866 และ 1,51 1 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการพึ่งพาความรู้เฉพาะทางและทักษะชั้นสูงในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านบิ๊กดาต้าจากฝั่งผู้ให้บริการ ในขณะที่เมื่อจำแนกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองมีมูลค่าสูงที่สุดคือ 6,449 ล้านบาท ตามด้วยผู้ให้บริการที่ปรึกษาหรือติดตั้งดูแลระบบ และผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย มีมูลค่า 4,484 และ 906 ล้านบาทตามลำดับ
นอกจากนี้จากการศึกษายังพบด้วยว่า ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าในประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ปริมาณข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการใช้งานการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์และการวิเคราะห์เชิงแนะนำที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
ทั้งนี้จากการศึกษาครั้งนี้ สำนักงานฯ ยังพบแนวโน้มสำคัญของการใช้งานบิ๊กดาต้าในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีจากนี้ว่า โครงการด้านบิ๊กดาต้าจะมีขนาดเล็ก แต่จะมีหลายโครงการมากขึ้นและมีความถี่ในการจัดตั้งและดำเนินโครงการมากขึ้น โดยองค์กรในประเทศไทยจะมุ่งเน้นการลงทุนในเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ชาญฉลาดมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการทำงานแบบอัตโนมัติโดยอาศัยแมชชีนเลิร์นนิ่ง และปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้องค์กรต้องเร่งกำหนดนโยบายการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้
งานดาต้าได้โดยไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนโยบายภายใน หรือจริยธรรม กระนั้นแล้วก็ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต้องเร่งสร้างความเข้าใจและหาทางแก้ไข ได้แก่ ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของข้อมูล และการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ เป็นต้น
จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า อุตสาหกรรมจะมีการอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 13.7 และ 16.4 ต่อปีในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ โดยหากพิจารณาตามประเภทของการลงทุนซึ่งแยกเป็นการลงทุนในฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการธุรกิจ/บริการด้านไอทีแล้ว พบว่าการลงทุนในบริการที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้าจะยังคงมีสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุด จากความต้องการทักษะเฉพาะด้านและกรณีใช้งานใหม่ ๆ ที่จะทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสำนักงานฯ มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ผ่านนโยบายหรือกิจกรรมด้านการตลาดและการลงทุนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยครั้งนี้ สำนักงานฯ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ผลการสำรวจข้อมูล รวมถึงข้อแนะนำในการนำบิ๊กดาต้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งสำนักงานฯ คาดหวังว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป
*****************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น