pearleus

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

สทพ.ประชุมร่างแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 28 กันยายน 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ครั้งที่ 2/2561 ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นรองประธานกรรมการ ตลอดจนคณะผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นกรรมการฯ ซึ่งการประชุมดังกล่าวมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นกรรมการและเลขานุการ และมี นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวว่า การประชุมกรรมการ สทพ. ในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อพิจารณา (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และพิจารณาการดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ประกอบกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สทพ. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ซึ่งจะครบกำหนดวาระ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2561 นี้ ส่งผลให้ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการ สทพ. จะหมดวาระลง จึงจะต้องดำเนินการเพื่อแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ต่อไป
          พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ได้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนของ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งประกอบด้วย แผนงานหลัก 4 แผน ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2) ส่งเสริมให้มีการสร้างพลังอำนาจของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ 3) กำหนดนโยบายที่เอื้อให้องค์กรเกิดพลังในเชิงบวกในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ 4) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ตลอดจนเนื้อหามาตรการโดยสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งมี 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 มาตรการในการดำเนินการของหน่วยงาน ที่มีหลักการที่หน่วยงานต้องถือปฏิบัติ 7 ข้อ ได้แก่ 1) การให้ความคุ้มครองบุคลากรของหน่วยงานทุกคน 2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานร่วมกัน 3) การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร 4) การใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นทางการ 5) การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเป็นความลับ
6) การร้องเรียนและคุณสมบัติของกรรมการสอบข้อเท็จจริง และ 7) การติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และส่วนที่ 2 ตัวอย่างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือ คุกคามทางเพศในการทำงาน เป็นมาตรการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และผู้เป็นพยาน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ถูกกระทำเกิดความกล้าที่จะดำเนินการเมื่อเกิดปัญหา
          ทั้งนี้ โดยกำหนดการดำเนินการ ดังนี้ 1.กำชับให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 2. เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ผู้ร้องทุกข์และพยานจะไม่ถูกดำเนินการใด ๆ ที่กระทบต่อหน้าที่การงาน หรือการดำรงชีวิต หากจำเป็นต้องมีการดำเนินการใด ๆ เช่น การแยกสถานที่ทำงานเพื่อป้องกัน ไม่ให้ผู้ร้องทุกข์และผู้เป็นพยานและผู้ถูกกล่าวหาพบปะกัน เป็นต้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องทุกข์และผู้เป็นพยาน 3. ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน รวมทั้งกำกับ ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการฯ 4. ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยขจัดสิ่งแวดล้อมที่ล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ เช่น ภาพลามก ภาพโป๊เปลือยในปฏิทิน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
_________________

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น