pearleus

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

อพท. ผนึก 19 มหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมเปิด DASTA Academy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย นำโดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายในประเทศ และต่างประเทศ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งยกระดับพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการ และถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดลงนาม 19 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ร่วม “สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” พร้อมเปิดหลักสูตรของศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy เดินหน้าเติมเต็มทักษะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนทั่วประเทศ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่า  ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการมุ่งยกระดับพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวประเทศไทยภายใต้กิจกรรม “สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ที่จะนำหลักสูตรที่ครอบคลุมหลายมิติในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านบริหารจัดการขั้นพื้นฐานชุมชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตร
เพื่อสนับสนุนด้านตลาดในพื้นที่ชุมชน และสิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนหรือชุมชนเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันดูแลรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และสิ่งแวดล้อม ในสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย ให้ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงเสน่ห์งดงามของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน "ผมมองว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นกลไกสำคัญ ที่สามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยได้
อีกมาก”

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า  เพื่อสนับสนุนภารกิจยกระดับความสามารถการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)   อพท. ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญ ในการผนึกกำลังหน่วยงานภาคีพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยสำคัญในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวกว่า 19 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเป็นเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน

สำหรับ 19 มหาวิทยาลัยประกอบด้วย
- มหาวิทยาลัยบูรพา                      (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก)           
- มหาวิทยาลัยศิลปากร                      (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก)
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                      (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้                     (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง                     (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย                     (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง) 
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น                     (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง)
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม                           (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง)
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                     (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา                   (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์                    (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์            ( เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา        (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
- มหาวิทยาลัยนเรศวร (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มมรดกโลกด้านวัฒนธรรม)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร         (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มมรดกโลกด้านวัฒนธรรม)
- มหาวิทยาลัยมหิดล            (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์    (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)

โดยการลงนามดังกล่าว หวังการพัฒนา พร้อมเพิ่มศักยภาพงานองค์ความรู้และขีดความสามารถของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แก่กลุ่มเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนหลักสูตรคือ หน่วยงานที่มีเกี่ยวในการบริหารจัดการพื้นที่การท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หน่วยงานภาคีเครือข่าย นักพัฒนาการท่องเที่ยว บุคลากรภาครัฐ และ อปท.ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยเน้นประสานความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะการจะยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

"สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ ร่วมใจของคนไทยในการร่วมผลักดันสู่การพัฒนา และพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “และในปีนี้ อพท. เริ่มต้น อบรมหลักสูตร การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ หรือ  Certificate in CBT Integrated  ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 9 เขต มีบุคลากรสำคัญ จำนวนกว่า 250 คน เข้ารับวุฒิบัตรจากการสำเร็จการอบรมหลักสูตรครับ “

ทั้งนี้การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ  ซึ่งจากการร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้การบริหารจัดการองค์ความรู้ในพื้นที่ การนำเสนออัตลักษณ์ชุมชน เพื่อนำประโยชน์ไปเผยแพร่ ปรับใช้ถ่ายทอดพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนและจากนี้ อพท. โดยศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy จะมีการดำเนินงานขยายผลการเผยแพร่องค์ความรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายแห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยว ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างเข้มแข็ง และอาจครอบคลุมในพื้นที่ทั่วประเทศไทยในอนาคต

****************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น