ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.61 "ชี้ชัดเจาะลึก"มีโอกาสเดินทางตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทย ถิ่นอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยการนำของนางอัมพวัน พิชาลัย ผอ. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงจากผลงาน เทคนิค หัตถศิลป์อันหลากหลายจากครูช่างศิลป์ และทายาทช่างศิลป์ ซึ่งนับวันจะหาผู้สืบสานได้ยากยิ่งขึ้น
โดยผอ.อัมพวัน กล่าวว่า งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จะลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา ดังนั้น SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมผลงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน ได้ดำเนินการสืบค้นและให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน เพื่อเผยแพร่คุณค่าของผลงานหัตถศิลป์สู่ผู้สนใจในงานศิลปะหัตถกรรมทั้งเยาวชนและสาธารณชน ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของครูช่าง เหล่านี้ไว้ ได้รู้จักอย่างกว้างขวางเพื่อเป็นแหล่งความรู้แม่แบบ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังสืบต่อไป
ทั้งนี้กิจกรรมครั้งนี้ SACICT ได้รวบรวมสุดยอดงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่า โดยฝีมือครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในหลากหลายสาขา เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ชื่นชม เรียนรู้วิธีการ เทคนิค การสร้างสรรค์งานเครื่องเงิน งานทอผ้าโฮล และผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หาดูได้ยากของอีสานใต้ มี ครูป่วน เจียวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2552 และคุณเพชรรัตน์ เจียวทอง ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2559 งานช่างเครื่องโลหะสุรินทร์ ที่ตำบลเขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ โดดเด่นเรื่องความวิจิตรของลวดลายเครื่องเงินที่ผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมเขมร
ความโดดเด่นของครูป่วน เป็นผลงานประกอม หรือ ประคำ โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เชี่ยวชาญพิเศษในการทำ ตะเกา หรือ ต่างหู โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างลายสร้างสรรค์ลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ มีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านความละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันครูยังคงถ่ายทอดความรู้ในการทำเครื่องเงินให้แก่สมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้าน
อีกแหล่งเป็นบ้านครูสุรโชติ ตามเจริญ สัมผัสกับความวิจิตรของ งานผ้าโฮลแบบโบราณ ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นลายเอกลัษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดสุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้น มาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลาย ก่อน จึงนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม”ในภาษาไทยและคำว่า “มัดหมี่”ในภาษาลาว
ครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ผู้อนุรักษ์ มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสีจากธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมช่วยให้สีติดสวยโดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขาม สีเหลือง ย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข จนได้เป็นสีเหลืองทองอร่ามตา และย้อมครามด้วยวิธีย้อมเย็น ทำให้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของผ้าโฮลที่มีสีสดสวย และลวดลายมัดหมี่ที่โดดเด่นของภาคอีสาน โดยรักษาเอกลักษณ์ของลวดลายกรวยเชิงลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ครูสุรโชติ ผู้สืบทอดภูมิปัญญารุ่น รุ่นที่ 3 เปิดเผยว่า ท่านเป็นเขยสุรินทร์และเห็นคุณยายของภรรยาทอผ้าและมัดหมี่ลายผ้า ด้วยความคุ้นเคยในวัฒนธรรมการทำผ้าโฮลโบราณ จึงเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้และเริ่มฝึกฝนการมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติจนชำนาญ จนหลงใหลและผูกพัน เริ่มสืบค้นลายผ้าเก่าจากพิพิธภัณฑ์ หนังสือผ้าโบราณเพื่อมารังสรรค์ผืนผ้าให้กลับมาอวดโฉมอีกครั้งเพื่อรักษามรดกภูมิปัญญานี้ไว้ โดยที่บ้านครูสุรชาติ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าโฮลโบราณ ซึ่งสร้างถักทอมาตั้งแต่สมัยร้อยกว่าปีในบางผืน และบางผืนเกิดจากแรงบันดาลใจของทายาทครูช่าง ลวดลายสมัยใหม่เป็นรูปสัตว์หลายชนิด เช่น เสือดำ พญานาค เป็นต้น
สุดท้ายได้เยี่ยมชมงานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) ของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จังหวัดบุรีรัมย์ มีความชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่จุดเด่น คือ เลี้ยงไหมและสาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมไทยพื้นบ้าน ใช้การสาวลงตะกร้าด้วยมือจนได้รับพระราชทาน ตรานกยูงทองจากกรมหม่อนไหม ลายที่โดนเด่นคือลายนกยูงทอง ใช้เทคนิคใหม่การทอผสมผสานกับการเขียนทองสร้างมิติของลวดลายได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับผ้าซิ่นตีนแดง เป็นผ้าทอโบราณวิจิตรงดงามของกลุ่มคนซึ่งตั้งถิ่นฐานแถบอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าที่ทอสร้างลวดลายด้วยวิธีการมัดหมี่ เป็นการมัดย้อมเส้นด้ายพุ่งเป็นลวดลายก่อนนำไปทอ เป็นผืนผ้า มีความโดดเด่นอยู่ที่หัวซิ่น และตีนซิ่นสีแดงสด ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
โดยครูรุจาภา เล่าว่า เรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่า ผ้าซิ่นตีนแดงในยุคแรกจะเป็นงานประณีตศิป์ที่เกิดขึ้นในจวนเจ้าเมืองในสมัยพระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองพุทไธสง เมื่อ 200 ปีมาแล้ว ท่านมีคำสั่งให้กลุ่มสตรีในจวนทอผ้าซิ่นตีนแดงขึ้นเพื่อนำไปมอบให้ภรรยาของท่าน เมื่อมีงานพิธีต่างๆ ภรรยาของท่านจึงสั่งให้สตรีในจวนนุ่งซิ่นตีนแดงเหมือนกันทุกคน ทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
เมื่อเจ้าพระยาตระกูลเสาไทยสงผู้สืบเชื้อสายต่อจากพระยาเสนาสงคราม ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าซิ่นตีนแดงออกมาเผยแพร่ให้รุ่นลูก หลาน การทอจึงเริ่มกระจายไปตามหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเป็นแหล่งที่สร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนแดงที่มีชื่อเสียง
ผ้าซิ่นตีนแดงในอดีตเป็นผ้าที่มีราคาแพง เนื่องจากต้องอาศัยช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนามานั่งทอผ้า ขั้นตอนการทำนาสมัยก่อนยุ่งยากกว่าปัจจุบันมาก เมื่อผ่านมาเป็นยุคสมัยที่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยเหลือให้การทำนามีความสะดวก รวดเร็วขึ้น ใบหม่อนเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ให้มีใบใหญ่ขึน จากที่เป็นผ้าสำหรับผู้มีฐานะ ปัจจุบันกลายเป็นผ้าที่คนทั่วไปสามารถหามาสวมใส่ได้
อย่างไรก็ตามผอ.อัมพวัน กล่าวว่า SACICT ดำเนินการค้นหาและคัดสรรช่างผู้มีภูมิปัญญาด้าน งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยการเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมแล้วทั้งสิ้น 366 คน โดยแบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 85 คน ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 217 คน และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 64 คน
" SACICT เรายังคงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ สืบสานงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่าจากฝีมือ ช่างหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดให้งานหัตถศิลป์ไทยคงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน และผลักดันให้ SACICT เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย (SACICT CRAFT CENTER) รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป"ผอ.อัมพวัน กล่าวพร้อม เชิญชวน ผู้ที่สนใจงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่ SACICT ทุกวัน เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือสอบถามข้อมูลโทร.1289 , www.sacict.or.th , www.facebook.com/sacict
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น