ตบกะโหลก
ประเทศไทย ….เมือง ‘กอดขยะ’
ไม่ผิดล่ะ เมืองไทย
เมืองกอดขยะจริง ๆ ไม่ใช่ปลอดขยะ
อย่ามาดัดจริตบิดพลิ้ว ทำเป็นเดียงสาเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเลย
ครับเปิดหน้าชกกันไปเลยว่า
ทุกวันนี้ปัญหาขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกไปเสียแล้ว ใครจะไปคิดล่ะว่า ถุงหรือขวดพลาสติกที่ทิ้ง ๆ
กันบนฟุตบาท จะอันตธานหายไปสิงอยู่ในท้องปลาวาฬ
แล้วใครล่ะจะคิดว่าหลอดดูดนมอันเล็ก ๆ จะไปอยู่ในท้องนกหนูงูตะขาบเต่า
เรื่องระดับโลก
ขอยกขึ้นหิ้งไว้ เพราะใหญ่เกินกว่าจะอธิบาย เอาแค่ในประเทศก็เขียนกันไม่มือหงิกแล้ว และที่ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน
ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องใหม่
หากแต่เป็นเรื่องใหญ่ต่างหากล่ะ ที่ต้องหยิบมา ซึ่งของมาขึ้นอีกครั้งก็ตอนได้เห็นข่าว ตำรวจ
จับมือเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ และกรมศุลกากร บุกตรวจค้นโรงงานอุตสาหกรรม หลังค้นตู้คอนเทนเนอร์พบสำแดงเท็จ
ไม่ได้นำเข้าพลาสติกจริง แต่ลักลอบสอดไส้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มาด้วย
ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีอย่างน้อย 4 บริษัท จากทั้งหมด 7 บริษัท ที่มีใบอนุญาตนำเข้า
แต่ทำผิดเงื่อนไข และส่งต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้โรงงานอื่น
นอกจากนี้มีอีกอย่างน้อย 6 บริษัท ที่ไม่มีใบอนุญาต
แต่อ้างว่า นำเข้าขยะพลาสติก ก็ถือว่าสำแดงเท็จ
ค้นพบที่จังหวัดไหนบ้าง
ชื่อบริษัทอะไร คงสืบหาข้อมูลจากข่าวในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก แต่ที่อยากจะนำมาขยายความตรงนี้ก็คือ
เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้ ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงหละหลวง ปล่อยให้ของเน่าเสียอันตรายเหล่านี้
นำเข้ามาในประเทศอย่างเป็นลำเป็นสัน
อะไรคือสำแดงเท็จ
แล้วทำไมถึงไม่ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้อย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลนำเข้าพลาสติกมือสอง
เพื่อมารีไซเคิล หรือโลหะหนักเบาอะไรก็ตาม ก็ต้องตรวจสอบการสำแดงที่เป็นจริง จะอนุญาตมากน้อยแค่ไหนไม่ใช่ประเด็น
แต่ที่น่าโมโหคือ ปล่อยให้มีการสำแดงเท็จอย่างหน้าตาเฉย เจ้าหน้าที่ไปอยู่ที่ไหนกันหมด
โดยเฉพาะจากกรมโรงงานและศุลกากร
ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานนี้ไม่ธรรมดาเสียแล้ว เพราะ เบื้องต้น พบว่า
ขั้นตอนการขอใบอนุญาตนำเข้ามีปัญหา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานให้ชัดเจน
รวมถึงไม่ยอมตรวจสินค้าที่บริษัท หรือโรงงานเหล่านี้สำแดง
ส่งผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
งานนี้เค้าว่าไม่ธรรมดาจริง เพราะมีพวกบริษัทชาวจีนที่ลักลอบทำธุรกิจนี้
ซึ่งรู้กันวงในว่ามีหลายบริษัท ทั้งบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะพลาสติก และกลุ่มที่เปิดบริษัท
หรือโรงงานเพื่อกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาต
และตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อคอยรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำจัดในไทยไม่หมด
มาทำลายแทน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกันเป็นขบวนการ
เท็จจริงอย่างไร เข้าใจว่าหลายคนคงพอรู้กันอยู่แก่ใจว่า
การนำเข้าออกกสินค้าตามท่าเทียบเรือต่าง ๆ กัน เค้ามี ‘ธรรมเนียม’ ปฎิบัติกันอย่างไร ความละเอียดรอบคอบ นั้นขึ้นอยู่กับ ว่า
สินค้าเป็นของใคร และต้อง ‘ทำอย่างไร’ จึงจะกำหนดทิศทางของการสำแดงสินค้าว่า
จะเลือกเอาแบบไหน ระหว่างเท็จกับจริง
เรื่องสำแดงสินค้า(ขยะ)
เท็จจริง เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากในสังคมไทย ที่อะไร ๆ ก็สีเทา ๆ กันไปหมด
ไม่ว่าจะวงการไหนตั้งแต่ระดับรากหญ้ายันรัฐบาลแห่งชาติ (ไหน)
ปัญหาตรงนี้ถ้ายังไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง ซึ่งคงคาดหวังจากข้าราชการไทย
คงต้องฝากฝีฝากไข้ไว้กับพวกนักกิจกรรมทางสังคมทั้งหลาย แล้วก็สื่อน้ำดีที่เหลือไม่กี่สำนักแล้วในประเทศนี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น