pearleus

วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหินตันเสียเอง เผยทางเลือกใหม่สร้างเขมรขายไทย


ผ่าทางตัน:โรงไฟฟ้าถ่านหิน จัดโดยชมรมคอลัมนิสต์ฯ กลายเป็น “ทางตัน” เสียเอง เหตุนโยบายรัฐยืดเวลาศึกษาออกไปอีก 3 ปี ระบุภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงด้านพลังงาน  เผยแนวคิดผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกัมพูชา ส่งขายภาคใต้ไทยในราคาแสนถูก ยืนยันไม่กระทบความมั่นคงของชาติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ผ่าทางตัน :  โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาพลังงานในจังหวัดภาคใต้ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ นายบรรพต แสงเขียว รองประธานบริษัทเกาะกงยูนิลิตี้ จำกัด โดยมีนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์  และดร.พลพฤต เรืองจรัส ร่วมดำเนินรายการ

นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ
กล่าวต้อนรับและพร้อมกล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ ว่า หลังจากที่ชมรมคอลัมนิสต์ฯเฝ้าติดตามสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของไทย นับแต่จัดเสวนาปัญหาโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2557 และล่าสุด เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อต้นปี 2560 พบว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงหาทางออกที่เด่นชัดไม่ได้ ดังนั้น การจัดเสวนาครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นอีกมุมมองและข้อเสนอที่สะท้อนทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน ซึ่งทางชมรมคอลัมนิสต์ฯ ก็พร้อมจะสรุปประเด็นปัญหาและทางออก เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าของภาครัฐ จากเดิมที่เคยบอกจะดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ แต่ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งมีนโยบายให้ชะลอแผนศึกษาออกไปอีก 3 ปี ซึ่งระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น จึงเป็นสิ่งที่สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การมองภาพรวมพลังงานว่าจะเพียงพอหรือไม่ต้องมองทั้งระบบ ซึ่งระบบการผลิตพลังงานมี 4 ระบบคือ 1 กำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยมีการผลิตติดตั้งได้ 30,000 เมกะวัตต์  แต่เราไม่ได้ผลิต 30,000 เมกะวัตต์ได้ตลอดเวลา ถ้าโรงไฟฟ้าบางแห่งมีปัญหาก็ทำให้การผลิตลดลง 2. กำลังการผลิตพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นตัวสำคัญมาก เพราะแสดงถึงกำลังการผลิตแท้จริง 3.กำลังการผลิตสำรอง แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตสำรองของเราจะสูงกว่าช่วงดีมานด์พีค 20% คือผลิตได้ 30,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตกว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือว่ายังมีความเสี่ยงหากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมเลเซีย หรือ เมียนมามีปัญหา และ 4. กำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ สามารถผลิตได้ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤติ ในกรณีที่โรงไฟฟ้าหลักเสียหาย

 เมื่อมองไปในส่วนของภาคใต้ นายมนูญ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตมาจากโรงไฟฟ้าหลัก 2 แหล่งคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1,476 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 930 เมกะวัตต์ รวม 2,406 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตจริงคือ โรงไฟฟ้าจะนะผลิตได้ 1,106  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 918 เมกะวัตต์ รวม 2,024 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 2-3 โรงประมาณ 140 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตจริง 2,164 เมกะวัตต์  ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากภาคกลาง และหากมองไปอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟเพิ่มอีกปีละ 5% จะเพิ่มยอดใช้ไฟฟ้าอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอแน่นอน ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม

ด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงประเด็น ภาพรวมของไฟฟ้าจำเป็นในเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในธุรกิจการท่องเที่ยว ที่มีการใช้ไฟฟ้าพีคในเวลากลางวัน แตกต่างจากภาคกลาง ที่มีปริมาณความพีคอยู่ที่กลางคืน และได้นำสถิติการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศและพื้นที่ภาคใต้ มานำเสนอ ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มและอยู่ในการปรับแผน PDP เพื่อกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอีกทั้งลดความเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยที่ประเทศจะขาดแคลนพลังงาน เราจึงจำเป็นต้องทบทวนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ ทั้งนี้ในแผนได้ยึดโยงปกติคือการพึ่งพาเชื้อเพลิงเชิงเดี่ยว

 ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า กรณีสร้างโรงไฟฟ้าเกาะกง เคยมีการเสนอมายังรัฐบาลและ พล.อ ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้นำเรื่องนี้มาให้การไฟฟ้าพิจารณา แต่ยืนยันว่าอีก 20 ปี เราอาจต้องซื้อไฟจากต่างประเทศเพราะตอนนี้ก๊าซเราเหลือเพียง 35%

ขณะที่ นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จ.กระบี่ มีแนวทาง การพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กระบี่ โก กรีน” หรือ กระบี่ในทิศทางการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 8.8 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวของทุกจังหวัดในภาคใต้ พบว่ามีมากถึง 5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี แต่ก็ให้ความสำคัญกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประมง การเกษตร สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาสุขภาพและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

 มีคำถามมากมายที่ต้องถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯและหน่วยงานภาครัฐ หากต้องผ่าทางตันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาข้างต้นมากแค่ไหน? ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงได้แค่ไหน? มีการนำข้อเสนอมูลและข้อเรียกร้องที่คนในพื้นที่ได้นำเสนอมาประกอบการพิจารณาหรือไม่? ที่สำคัญหากโรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริง แล้วเหตุใดจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ทั้งที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ถือเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ เป็นจุดที่มีผืนหญ้าทะเลใหญ่สุดของประเทศ และยังเป็นแหล่งพักอาศัยของฝูงค้างค้าวขนาดใหญ่อีกด้วย นอกจากนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายใน จ.กระบี่ มีถึงปีละกว่า 1,000 เมกกะวัตต์ เหลือใช้กระทั่งมีพอจะส่งไปขายให้จังหวัดอื่นๆ ได้ใช้ จึงอยากให้ภาครัฐได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายธีรพจน์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลหลายส่วนที่มาจากคนพื้นที่ ซึ่งได้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่กลับไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะเดียวกัน ก็กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่พวกเขาก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ  ตนจึงขอทิ้งท้ายว่า โรงไฟฟ้าถ่ายหินนั้น “ไม่ตอบโจทย์ของจังหวัดกระบี่”

นายบรรพต แสงเขียว รองประธาน บริษัท เกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกที่สุด ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ผลิตไฟฟ้าถ่านหินปีละ 22,600 เมกะวัตต์ เวียดนาม 14,000 เมกะวัตต์ มาเลเซีย 8,000 เมกะวัตต์ ขณะที่เมืองไทยผลิตเพียงปีละ 4,000 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าบ้านเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหน่วยละ 1-2 บาท

อย่างไรก็ตาม นายบรรพต กล่าวว่าโดยส่วนตัวมีข้อเสนอให้นำเข้าไฟฟ้าถ่านหินจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันบริษัท เกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา สามารถสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 4,000 เมกะวัตต์ สามารถส่งกระแสไฟฟ้ามายังพื้นที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ในราคาหน่วยละ 2.76 บาท เพื่อให้คนไทยใช้ไฟในราคาถูก ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ในระดับหนึ่ง เปรียบเสมือนมีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร

“ปัจจุบันเราเป็นอาเซียน คงไม่มีปัญหาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแน่นอน อีกทั้งผู้ลงทุนคือประเทศจีน และใช้พื้นที่ของประเทศกัมพูชา” นายบรรพต ย้ำ

สำหรับประเด็นสำคัญที่กลายเป็นหัวข้อของงานเสวนา คือ จะผ่านทางตันในกรณีได้อย่างไร? นายธีรพจน์ กล่าวว่า ถึงวันนี้เชื่อว่าจะยังไม่ถึงเวลาจะผ่าทางตัน เนื่องจากภาครัฐยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบในทุกมิติได้จริงหรือไม่? รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ว่าภาคใต้ไม่มีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ แล้วนั่นแหล่ะ โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงจะเกิดขึ้น

นายมนูญกล่าวว่า ไม่มีวิธีใดที่จะผ่าทางตันได้ ตราบใดที่ผู้คนยังไม่ยอมรับว่าถ่านหินเป็นอีกทางเลือกอีกทางหนึ่งในการสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ หากจะผ่าทางตันภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นของการวางแผน พร้อมให้ตัวแทนภาคประชาชนได้เสนอแผนงานและพื้นที่จัดสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงยื่นข้อเสนอที่ต้องการในการเปิดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรี มีโรงเรียน มี สถานพยาบาล และอื่นๆ

ขณะที่ ดร.ทวารัฐ ยอมรับว่า ถึงตอนนี้ ยังไม่มีช่องทางใดในการจะผ่าทางตันว่าด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการมาในวันนี้ ตนต้องการจะมาฟังข้อเสนอและมุมมองของวิทยากรแต่ละท่าน ซึ่งข้อเสนอของหลายๆท่านก็น่าสนใจ ซึ่งตนจะนำไปปรับใช้ในการทำแผนพลังงานของชาติต่อไป อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกคนยอมรับว่าถึงอย่างไรภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ถึงขั้นที่ว่า “ขาดไฟฟ้าขาดใจ” นั่นเพราะไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของทุกชีวิต

ด้าน นายบรรพต กล่าวว่า วันนี้แม้จะไม่ทางออก แต่ก็ควรมีข้อเสนอให้กับประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอการสร้างโรงไฟฟ้าที่ได้เตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ เกาะกง กัมพูชา ภายใต้เงื่อนไขที่คนไทยและประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากต้นทุนผลิตคือประเทศจีน ส่วนการผลิตในกัมพูชา ภายในนิคมอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดนั่นเอง.


/////////////////////////////

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น