pearleus

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“ฮูกุมปาก๊ะ” เพื่อสุขภาวะของ “ชุมชนบ้านบาลา” เพิ่มมูลค่า “ขยะ” รักษาสิ่งแวดล้อม สู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน



“ขยะ” เป็นปัญหาสำคัญสำหรับทุกครัวเรือนและชุมชน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเมืองหรือชนบท ถ้าหากขาดการจัดการขยะที่ถูกวิธีก็จะสร้างปัญหาต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพที่ดูไม่สบายตา ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นแหล่งพาหะนำโรคต่างๆ และส่งผลต่อการใช้งบประมาณจำนวนของท้องถิ่นจำนวนมากในการกำจัดขยะ

บ้านบาลา ตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสเป็นชุมชนสุดท้ายที่อยู่ติดกับพรมแดนไทย-มาเลเซีย เป็นหมู่บ้านต้นน้ำ “สุไหงโกลก” ที่เกิดจาก “น้ำตกสิรินธร”ในพื้นที่ของ เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าบาลา-ฮาลา ซึ่งติดกับชุมชน ด้วยการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัด ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ปัญหาที่ตามมาก็คือ “ขยะ” ที่ถูกทิ้งตามรายทางจากนักท่องเที่ยวที่ไม่มีจิตสำนึก


ชาวบ้านบาลา จึงได้รวมตัวกันและจัดทำ“โครงการชุมชนบ้านบาลาเพิ่มมูลค่าขยะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายมะอะฮูมือรี ยูน๊ะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบาลา และผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่าที่ผ่านมาคนในชุมชนยังขาดความความรู้ในการจัดการคัดแยกและกำจัดอย่างถูกต้อง และมีปัญหาขยะจากนักท่องเที่ยวมาสร้างปัญหาเพิ่ม จึงเริ่มต้นจากให้ความรู้ในการจัดการขยะในครัวเรือน ขยายผลออกมาสูการดูแลหน้าบ้านของตนเอง ดูแลพื้นที่ส่วนรวมและสาธารณะต่างๆ ในชุมชน จนไปถึงแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนซึ่งก็คือน้ำตกสิรินธร

“ปัจจุบันแต่ละบ้านมีความรู้ในการแยกขยะภายในครัวเรือนมากขึ้น อย่างเศษอาหารจะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ บริเวณหน้าบ้านก็จะมีพื้นที่สำหรับคัดแยกชนิดและประเภทของขยะ ที่เอามารีไซเคิลได้ก็จะรวมกันไว้ที่ธนาคารขยะ โดยมีกติกาของชุมชนหรือฮูกุมปาก๊ะที่ต้องยึดถือร่วมกัน”

โดย“ฮูกุมปาก๊ะ” หรือกติการ่วมกันของชาวบ้านบาลาเพื่อแก้ปัญหาขยะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นมีจำนวน 5 ข้อประกอบไปด้วย 1) ห้ามทิ้งขยะลงในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน 2)การจัดกิจกรรมภาคกลางคืน ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมให้เยาวชนสำรวจขยะในครัวเรือน ชวนกันเก็บขยะไปยังศาลาหมู่บ้าน เพื่อคัดแยกขยะส่งธนาคารขยะ 3)ร่วมกันสอดส่องดูแลขยะบริเวณน้ำตกซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะของชุมชน 4)ช่วยกันทำความสะอาดกูโบร์ ฝายประปา คลอง ทุกๆ เดือน ทำความสะอาดมัสยิดทุกเดือน และ 5)ให้มีการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก

หลายคนอาจจะสงสัยว่ากติกาในข้อที่ 2 นั้นทำไมต้องทำในช่วงกลางคืน ผู้ใหญ่บ้านบ้านบาลาได้อธิบายว่า “ในชุมชนของเรานั้นมีโครงการเยาวชนต้านภัยยาเสพติด โดยจะชวนเด็กและเยาวชนในชุมชนมาทำกิจกรรมเล่นลิเกฮูรูและปันจักสีลัตจึงนำเอาเรื่องของกีฬามาบูรณาการร่วมกันกับการทำงานเรื่องขยะ ส่วนที่ต้องสอนในเวลากลางคืนนั้นเพราะกลางวันจันทร์-ศุกร์เด็กต้องไปเรียนหนังสือ และเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไปเรียนศาสนาหรือตาดีกาโดยข้อกำหนดในข้อที่ 2 นั้นๆ เกิดขึ้นจากเด็กๆ ที่ตกลงกันเองว่าจะคัดแยกที่บ้านและเอาขยะมาไว้ที่ธนาคารขยะและจึงค่อยทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน”

โดยขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วนำมารวมกันไว้ที่ “ธนาคารขยะ” ของชุมชนนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหนึ่งที่นำมาแปรรูปไม่ได้ก็จะนำไปส่งขายในตัวเมือง โดยรายได้จากการขายขยะในส่วนนี้ก็จะนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อไข่ไก่ เพื่อให้สมาชิกในชุมชนนำขยะในครัวเรือนที่คัดแยกแล้วมาร่วมกิจกรรม “ขยะแลกไข่” เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในเรื่องการจัดการขยะ และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน

ขยะอีกส่วนหนึ่งก็จะถูกนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วยการประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกหรือภาชนะสำหรับใช้งานต่างๆ เช่น ขวดน้ำพลาสติกก็นำมาทำเป็น ไก่แจ้, นกเงือก, โคมไฟ, ถังขยะ ขยะเป็นที่โลหะ เศษเหล็ก และไม้ ก็นำมาทำเป็นที่โกยขยะ, ชั้นวางของ วัสดุเหลือใช้อย่างเศษผ้าถุงพลาสติก หรือซองขนมต่างๆ ก็นำมาประดิษฐ์เป็นเข็มกลัด, ดอกไม้, พรมเช็ดเท้า, ผ้ากันเปื้อน , กล่องใส่กระดาษทิชชู่ฯลฯ

น.ส.สุรียา บือราเฮง และนางนิซง วาหะกลุ่มอสม. นักคิดและนักประดิษฐ์ช่วยกันเล่าให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์จากขยะทั้งหมดเกิดจากไอเดียและความคิดที่เห็นว่ามีขยะประเภทนี้เหลือเยอะในชุมชน จึงคิดลองผิดลองถูก และพัฒนาวิธีการทำดอกไม้ประดิษฐ์ ผ้ากันเปื้อน เข็มกลัดฯลฯ ขึ้นมาจากขยะและวัสดุเหลือใช้จนออกมาเป็นรูปแบบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สวยงามโดยไม่ได้มีใครมาสอน

“อย่างถุงขนมและถุงพลาสติกเมื่อก่อนเมื่อมีเยอะมากๆ ก็ต้องเผาทิ้ง ตอนนี้ก็เอามาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์เป็นดอกไม้ในรูปแบบต่างๆ  พวกเศษผ้าที่เหลือใช้เมื่อก่อนก็เอามาเผาทิ้งตอนนี้ก็เอามาทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ของเหลือใช้ต่างๆ ที่เมื่อก่อนทิ้งสามารถนำมาทำของใช้ได้เกือบทุกอย่าง” นางนิซงกล่าว

“ตอนนี้ชุมชนของเราสะอาดขึ้น เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกร่วมกันในเรื่องของการจัดการขยะและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนเห็นคุณค่าขยะว่าสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและจำหน่ายได้ ผู้สูงอายุ สมาชิกในชุมชนและ เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งทั้งด้วยการเดินไปเก็บขยะที่น้ำตกและตามพื้นที่ต่างๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนทุกวัยในชุมชนของเรา โดยแนวทางการทำงานต่อจากนี้จะขยายผลด้วยการหาตลาดนำสินค้าที่ประดิษฐ์จากขยะไปขายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อทำให้ชุมชนของเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”น.ส.ยุสนีรา อูเซ็ง บัณฑิตอาสา จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุถึงเป้าหมายการทำงานในระยะต่อไป

นายนิอาแซ หะยีดอเลาะ และ น.ส.นูรูอาย มามะ นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโล๊ะจูดช่วยกันเล่าว่า ได้เข้ามาร่วมกับชุมชนในการให้ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนต่างๆ ให้ถูกต้อง เพราะขยะถ้าไม่มีการจัดการที่ดีก็จะเป็นแหล่งพาหะนำโรคร้ายต่างๆ มาสู่ชุมชนได้ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องของการทำน้ำหนักชีวภาพ และการทำน้ำสมุนไพรไล่แมลงต่างๆ

“ข้อดีที่เกิดขึ้นคือเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่าง รพ.สต.กับชุมชน ชาวบ้านเองก็นำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างถูกต้อง ตัวของเด็กๆ เองก็มีการแบ่งโซนความรับผิดชอบเพื่อเก็บขยะในชุมชน จากการทิ้งขยะรวมๆ กันจนเป็นภาระของเทศบาลและ อบต.ในการกำจัด แต่วันนี้ชาวบ้านบาลาทุกคนสามารถคัดแยกขยะได้ด้วยตนเอง เมื่อก่อนในชุมชนแห่งนี้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปีล่ะไม่ต่ำกว่า 5 ราย แต่พอมีโครงการนี้จำนวนคนไข้ก็ลดลง และยังทำให้ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลายเป็นที่ 1 ของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย”

นางอุศนา อาแซ นักพัฒนาชุมชน เล่าให้ฟังว่า จากเดิมชาวบ้านไม่รู้ว่าการรวมกลุ่มนั้นจะทำอย่างไร แต่เมื่อมีการมาจัดลำดับความคิดกันใหม่ ทัศนคติของคนในชุมชนแห่งนี้ก็เปลี่ยนไป มีความสามัคคีกันมากขึ้นโดยใช้กิจกรรมต่างๆ มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างแม่บ้าน ผู้สูงอายุ และเด็ก เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

“สิ่งที่เห็นคือชาวบ้านมีศักยภาพในตัวเอง โดยกระบวนการกลุ่มนั้นจะช่วยดึงศักยภาพของคนในชุมชนออกมา ดึงเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ประโยชน์สูงสุด เกิดเป็นนวัตกรรมที่นำขยะมาแปรรูปเพิ่มมุลค่าประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ เกิดปราชญ์หรือครูภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาในหมู่บ้าน ซึ่งทักษะการจัดการตนเองที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้ชุมชนแห่งนี้สามารถพึ่งพาตนเองไปได้อย่างยั่งยืน”

“ขยะ” ที่ถูกทิ้งขว้างสองข้างถนนที่ถูกต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน นับเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปสู่การจัดการชุมชนบ้านบาลาให้เป็นชุมชนสุขภาวะที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน.

*****************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น