pearleus

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รมว.มท.เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยตามนโยบายรัฐบาลแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เน้นย้ำผู้ว่าฯต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเพื่อนำพาประเทศชาติก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

     เมื่อ 2 มิ.ย.60  เวลา 09:30 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังรวมจำนวน 300 คน
     โดยในวาระแรก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึง การบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งเป็นกลไกการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้กลไกการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง หรือ ป.ย.ป. โดยให้มีการบูรณาการแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ (Area Based) เพื่อเชื่อมโยงแผนพัฒนาในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาตำบล และแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนงานในฐานะผู้บัญชาการพื้นที่แทนรัฐบาล จะต้องทำงานเชิงรุกทั้งงานภารกิจตามนโยบาย (Agenda) ตามอำนาจหน้าที่ (Function) และการบูรณาการในพื้นที่ (Area) โดยขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ประชาสังคม ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นด่านหน้าในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยจะต้องพัฒนาคนและพัฒนางานโดยใช้เทคโนโลยีส่งเสริมความเข้มแข็งในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เพื่อนำพาประเทศชาติก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
     ในด้านการติดตามและประเมินผลในระดับจังหวัด เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดระบบการบริหารราชการในจังหวัดโดยกระตุ้นและบูรณาการหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดให้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. 
     และอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกท้องที่และท้องถิ่น คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหาร อปท. เป็นผู้ขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย
     สำหรับในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
     การปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั่วประเทศเดินทางเข้ากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ประชาชนได้ร่วมน้อมถวายความจงรักภักดี ซึ่งการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
     ในเรื่องการเตรียมการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนในส่วนภูมิภาค จำนวน 878 แห่ง ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลการดำเนินการด้วยตนเองเพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณีและสมพระเกียรติ โดยยึดกรอบการทำงานตามแนวทางที่คณะกรรมการส่วนกลางกำหนด รวมทั้งขอให้จังหวัดเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้ามีส่วนร่วมถวายความจงรักภักดีและถวายความอาลัย โดยร่วมจัดทำดอกไม้จันทน์ และร่วมปลูกดอกดาวเรือง หรือดอกไม้ที่มีสีเหลือง ซึ่งเป็นดอกไม้สีประจำวันพระราชสมภพ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีด้วย สำหรับการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมพิธีในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ขอให้ดูแลพี่น้องประชาชนเสมือนหนึ่งเป็นแขกของราชการซึ่งทางราชการเป็นเจ้าภาพ
     ในการเตรียมจัดกิจกรรมในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2560 ให้ทุกจังหวัดจัดพิธีการทางศาสนาพร้อมกันทั่วประเทศ และจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งขอให้ดูแลติดตามสถานภาพของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้ศาสตร์พระราชาในพื้นที่ 10 จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร แพร่ ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา พัทลุง) และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยตรงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด (ราชบุรี มุกดาหาร นราธิวาส ศรีสะเกษ ปัตตานี เชียงราย เชียงใหม่ ยะลา บุรีรัมย์ อุดรธานี)
     นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำความเข้าใจกรอบแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน (Way of Life) โดยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mind Set) ด้วยการกล่อมเกลาคนให้เป็นคนดีตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติทั้งการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงาน และใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยบูรณาการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้ดำเนินการสอดคล้องกัน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ติดตามผลการเรียน สภาพครอบครัว และคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทุนการศึกษาพระราชทานโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัดภาคใต้
     นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับนโยบายและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย 1) การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วยการเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ 2) การรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ใช้กลไกคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อย และบูรณาการทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและป้องกันการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุให้มีความพร้อมในการดำเนินการและสั่งการ 3) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นการลด Demand side และ Supply side และอาศัยกลไกประชารัฐระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา 4) การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเอาใจใส่โดยถือเป็นวาระสำคัญที่จังหวัดจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 5) การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเอาใจใส่เร่งรัดตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนด้วยความรวดเร็ว 6) ในเรื่องของการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) 7) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายประชารัฐ เน้นย้ำการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP ให้ได้มาตรฐาน 8) การสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 9) การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ขอให้กำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการอย่างเป็นระบบ 10) การบูรณาการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช ขอให้เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเก็บเล็ก และการจัดตั้งชุมชนคนริมน้ำในพื้นที่ต่างๆ 11) การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีผังนโยบาย ผังเมืองรวม ผังปฏิบัติ และมีกลไกที่จะทำให้การปรับปรุงผังเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ 12) การเตรียมความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ต้องมีความพร้อมด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 13) การรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุุทางถนน ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทอย่างเข้มงวด 14) การดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยขอให้เร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เน้นความโปร่งใส คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 15) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนในหมู่บ้าน/ท้องถิ่น) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สามารถใช้การได้อย่างรวดเร็ว
     สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนใน 4 ประเด็นคำถามตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีเจตนารมณ์ที่จะให้ประเทศไทยของเรามีการเลือกตั้งที่มีคุณธรรมและมีนักการเมืองที่เป็นคนดีมีจริยธรรมเข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง
     ในการประชุมครั้งนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศทุกมิติ สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เติบโต และยั่งยืน กระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ










0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น