pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อธิบดีสค.อบรมจนท.ให้ความรู้พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2560 รุ่นที่ 23 เผยตัวเลขจากศูนย์พึ่งได้ของสธ.สูงถึง55รายต่อวัน



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.60 เวลา 09.00 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดและมอบนโยบาย ตลอดจนข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2560 รุ่นที่ 23

โดย นางอัจฉรา พุ่มมณีกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กล่าวรายงานว่า กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จำนวน 77 คน ณ สถาบันพระประชาบดี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทย และทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากสถิติความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2559 ของศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีจำนวนผู้ถูกกระทำ 20,018 ราย เฉลี่ยวันละ 55 ราย และจากศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2559 www.violence.in.th พบว่า ภาคกลาง มีรายงานความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ

โดยลักษณะความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงด้านร่างกายร้อยละ 65.76 รองลงมาเป็นด้านจิตใจร้อยละ 26.06 ตามด้วยความรุนแรงด้านเพศร้อยละ 6.96 และด้านอื่น ๆ ร้อยละ 2.21 โดยส่วนใหญ่เพศชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงคิดเป็นร้อยละ 89.27 และเพศหญิงเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงคิดเป็นร้อยละ 88.59

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.50 นับเป็นมิติใหม่ของกฎหมาย ที่มีลักษณะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไปมีการกำหนดความหมายของความรุนแรงในครอบครัว ผู้ที่ได้รับความคุ้มครอง มีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง กำหนดบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดและให้โอกาสผู้กระทำผิดมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ ทั้งให้มีการไกล่เกลี่ยยอมความเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
ดังนั้น ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ การสร้างกลไกปฏิบัติงานต่าง ๆ มารองรับการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวได้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดกระบวนการทั้งในด้านกฎหมาย และด้านสังคมเพื่อช่วยเหลือทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีหน้าที่สร้างและพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552 – 2559) ได้ดำเนินการจัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว อย่างต่อเนื่องรวมจำนวน 22 รุ่น มีพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ จำนวน 1,022 คน สำหรับในปีนี้ สค. ได้ร่วมมือกับสถาบันพระประชาบดี เพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรมากขึ้น
อธิบดีสค.ระบุว่า ได้จัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ รุ่นที่ 23 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ โครงสร้าง กลไกการปฏิบัติงาน แนวทาง กระบวนการ และขั้นตอนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ

ตลอดจนทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นหลักสูตรอบรมระยะเวลา 10 วัน มีเนื้อหาวิชาความรู้หลักๆ แบ่งเป็น 2 สวน ได้แก่ ส่วนที่ 1 : วิชาที่เป็นแกนร่วม ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย ส่วนที่ 2 : วิชาที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ได้มีการจัดให้มีการศึกษาดูงาน การฝึกภาคปฏิบัติโดยประชุมกลุ่มและมีกิจกรรมการประเมินผู้เข้ารับการอบรมด้วย


----------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น