pearleus

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาธิการ ป.ป.ส. คนใหม่ ประกาศ “สานงานเก่า เสริมงานใหม่” เดินหน้านโยบาย 9 + 9 มุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ

เมื่อ 5 ตุลาคม 2558 เวลา 10.09 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ส. นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. คนล่าสุดแถลงข่าวเปิดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่สื่อมวลชน ยืนยัน "สานงานเก่า เสริมงานใหม่" เร่งดำเนิน 9 นโยบายขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อม 9 นโยบายพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส. โดยจะดำเนินโครงการเชิงนโยบายที่ยังดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมวางระบบรากฐานนโยบายที่สำคัญเพิ่ม ทั้งนี้ภายหลังการแถลงข่าวเปิดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อขับเคลื่อนงานเดินหน้าต่อในทันที ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ส.

          นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.สนายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามบาเสพติด

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. 
นายวินัย มณฑาพงษ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
นางนฤมล ช่วงรังษี ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์
นายสิทธิศักดิ์ กัลยาณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด

 ร่วมชี้แจงต่อสื่อมวลชนก่อนการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ว่า สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ มีบทบาทในการให้ข้อเสนอการแก้ไขปัญหายาเสพติด และรายงานข้อมูลการข่าวยาเสพติดให้กับรัฐบาล เพื่อกำหนดนโยบายในระดับชาติ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด และจากปีที่ผ่านมาที่มีผลการสำรวจความพึงพอใจจากประชาชนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน พบว่าการดำเนินนโยบายการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ของรัฐบาล เป็นผลงานที่เห็นชัดเป็นอันดับ 2 ผลงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันบูรณาการและขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ จึงเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และต่อจากนี้สำนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องด้วยการสานต่อนโยบายเดิม พร้อมเสริมนโยบายใหม่ด้วยแผน 9 นโยบายการขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินงานเดิม และเสริมการดำเนินงานใหม่ พร้อมทั้งวางระบบและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส. ด้วย 9 นโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส.

          นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนแผนในปีนี้ จะเน้นบูรณาการขับเคลื่อนแผนและการปฏิบัติการในทุกด้านอย่างประสานสอดรับกัน และต้องดำเนินงานอย่างชัดเจน
โดยยึดกรอบนโยบายที่กำหนดไว้ คือ (1) แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558 – 2562 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 (2) แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2559 ที่ประกอบด้วย 4 แผนหลัก ได้แก่ แผนป้องกันยาเสพติด, แผนบำบัดรักษารักษา, แผนการปราบปรามยาเสพติด และแผนบริหารจัดการอย่างบูรณาการ และ (3) นโยบายของรัฐบาลและของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในมิติของพื้นที่ (Area Approach) ทั้งในด้านการบำบัดรักษาและติดตามผู้ผ่านการบำบัด การปราบปราม การป้องกัน งานชุมชน โดยเฉพาะบทบาทของนายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่สำคัญงานความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการปราบปรามเชิงรุกซึ่งต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง โดยดำเนินการตามแผน 9 นโยบายการขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด”

          สำหรับ 9 นโยบายการขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง คือ
            1. ความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค โดยบูรณาการและขับเคลื่อนให้ครอบคลุมในทุกภารกิจ คือ
               - สำนักงาน ป.ป.ส. อาเซียน (ASEAN NARCO) 
               - แผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 3 ปี (2559 - 2561) จีน-ลาว-เมียนมา-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม 
               - สำนักงานประสานงานปราบปรามยาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office: BLO) 
               - การควบคุมเคมีภัณฑ์สารตั้งต้น 
               - การพัฒนาทางเลือก 
            2. การป้องกันปัญหายาเสพติด กำหนดเป้าหมายการป้องกันยาเสพติด 3 กลุ่ม คือ
               - กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กปฐมวัย การป้องกันเด็กและเยาวชนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา
               - กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 
               - กลุ่มประชาชนทั่วไป
            3. การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายที่พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาที่ใกล้ชิดและส่งผลกระทบต่อประชาชน เปรียบเสมือนปัญหา “หน้าบ้านดังนั้นจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้มีการดำเนินการกับ ชุมชนแพร่ระบาดที่มีปัญหาวิกฤติ กำหนดพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศรวม 200 ชุมชน และสานต่อการดำเนินงาน หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งต้องพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ 
            4. การบำบัดรักษาและติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา เน้นกระบวนการบำบัดที่มีคุณภาพ ครบกระบวนการ สามารถติดตามช่วยเหลืออย่างจริงจังตามแนวทางตามประกาศ คสช.ที่ 108/2557 โดยในปี 2559 กำหนดเป้าหมายทุกระบบ 220,000 คน และติดตามผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู 235,000 คน โดยให้บทบาทความสำคัญกับการพัฒนาศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู จังหวัด อำเภอ
            5. ตัดวงจรขบวนการค้ายาเสพติด เป็นภารกิจเดิมที่ดำเนินการอยู่ และจะดำรงความเข้มข้น ในการปราบปรามทำลายการค้ายาเสพติดทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งกำหนดเป็นมาตรการ คือ การปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติด, การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดพื้นที่ชายแดน, การรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน, การดำเนินการกับนักค้ายาเสพติดในเรือนจำ, การสืบสวนทางการเงินและยึดทรัพย์, การบังคับโทษปรับ และการติดตามผลคดี 
            6. เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องดำเนินการถึงที่สุด
            7. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง กำลังเข้าสู่กระบวนการนำเสนอ ผลักดันการออกกฎหมาย ซึ่งมีงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
               - การเตรียมการรองรับกฎหมายใหม่ที่จะออก วิเคราะห์ประเด็นการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายใหม่ ประเด็นที่จะต้องเตรียมการ
               - การปรับแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นปัญหาอุปสรรค 
            8. การแก้ไขปัญหายาเสพติด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรงและเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ความมั่นคง จำเป็นต้องประสานการแก้ไขปัญหาให้ครบวงจรเป็นแผนเฉพาะ
            9. การประชาสัมพันธ์ รัฐบาลบริหารประเทศเป็นปีที่ 2 จำเป็นต้องสื่อสารผลงานสู่สาธารณะ จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก อย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อมวลชนทุกช่องทาง

          นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับ 9 นโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นนโยบายการวางรากฐานและพัฒนาศักยภาพของทั้งบุคลากร การนำเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในระดับชาติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน    ในระยะอันใกล้นี้ ทั้งนี้เพื่อให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นองค์กรหลักที่คงความเป็นเลิศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด          สมดังวิสัยทัศน์ของสำนักงาน ป.ป.ส. โดย 9 นโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส.
            1. สานต่อต่อเนื่องนโยบายอดีตผู้บริหารและขยายผลสู่จุดหมาย 
            2. พัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ 
            3. บริหารการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้า
            4. พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. (ศปก. ป.ป.ส.) เป็นกลไกการขับเคลื่อน
            5. พัฒนาบุคลากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ การทำงานเป็นทีม ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ
            6. พัฒนากระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม
            7. เสริมสวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจ
            8 .พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน
            9. พัฒนาและปรับปรุงสถานที่
          สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านที่ได้สนับสนุนการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องด้วยดีตลอดมา จนเป็นที่น่าพอใจของประชาชน และขอฝากไปถึงพี่น้องประชาชนทุกท่านในการให้ความร่วมมือ และการร่วมแจ้งเบาะแสยาเสพติดผ่านทางสายด่วน 1386 เพราะปัญหายาเสพติดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผมให้คำมั่นว่า ผมจะมุ่งมั่นสานต่อ และเสริมสร้างงานจัดการปัญหายาเสพติดให้ดียิ่งขึ้น เพื่อพี่น้องประชาชน”

///วุฒิ ชี้ชัด..รายงาน






0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น