pearleus

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แถลงการปฏิบัติการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)

วันที่ 2 สิงหาคม 2556  พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) แถลงข่าวสถานการณ์การปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อยศอ.รส. พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะผอ.ศอ.รส. ชี้แจงคำสั่งปฏิบัติการ รายละเอียดการทำงาน และการจัดกำลังเพื่อดูแลการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งจะใช้แนวทางการดูแลตั้งแต่มาตรการเบาไปถึงหนักตามหลักสากล และจะมีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอน ศอ.รส.นำเรียนทั้งเจตนารมณ์และแนวทางปฏิบัติต่างๆให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ยืนยันว่าพี่น้องประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่บางพื้นที่ที่ล่อแหลม อาจจะต้องเข้าไปดูแล ซึ่งการปฏิบัติการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม จะยึดหลักสากล เป็นไปตามกรอบกฏหมาย ศอ.รส.ยืนยันว่าจะทำทุกหน้าที่และวิธีการเพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด " ผอ.ศอ.รส.กล่าว พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กล่าว ประเมินจำนวนผู้ชุมนุมอย่างต่ำมาประมาณ 4 พัน และสามารถเติมเข้ามาได้เรื่อยๆ ยกไปเป็น1 หมื่น, 2 หมื่น หรือ 7 หมื่นได้ เป็นข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ประมวลจากแนวร่วมต่างๆ แต่ต้องดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ศอ.รส. ได้ออกประกาศคำสั่งปฏิบัติการ 3 ฉบับ ในการห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา และถนน 12 เส้นทางโดยรอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และ ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน พร้อมนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่จะใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม อาทิ ปืนยิงกระสุนยาง / แก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์ที่จะใช้เป็นไปตามหลักสากล ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึง แผนปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพื่อดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นว่า หลักสำคัญของการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนนั้น จนท.จะต้องพึงระลึกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น จนท.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามกฎหมายที่กำหนด และหลักสิทธิมนุษยชน และหลักควบคุมฝูงชนที่เป็นหลักปฏิบัติสากล ซึ่งการใช้กำลังตามหลักการดังกล่าวจะหมายรวมถึงการใช้อุปกรณ์และอาวุธประกอบการใช้กำลังด้วยด้วย ทั้งนี้ การจัดการกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายนั้น จนท.ที่รับผิดชอบจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องยึดถึงหลัก 4 ประการ คือ 1.หลักแห่งความจำเป็น คือให้จนท.ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น โดยต้องพยายามใช้วิธีการอื่นก่อนการใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม 2.หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ต้องเลือกวิธีจากเบาที่สุดและเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุดก่อน โดยต้องยึดหลักแห่งความได้สัดส่วน คือต้องใช้วิธีการและกำลังด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับพยันตรายที่คุกคาม เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองและของผู้อื่น 3.หลักความถูกต้องตามกฎหมาย คือการพิจารณาใช้กำลังเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามหลักสากลกำหนดไว้ 4.หลักความรับผิดชอบ ให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง โดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ หรือการปฏิบัติ และให้มีการจัดเตรียมบรรเทาผลร้ายหรือเยียวยาหลังใช้กำลังเสร็จสิ้นไว้ด้วย
สำหรับหลักการใช้กำลังสากลในการใช้กำลังปฏิบัติการควบคุมฝูงชน จะมีทั้งหมด 10 ขั้นจากเบาไปหาหนัก ประกอบด้วย 1.วางกำลังในเครื่องแบบปกติ 2.การจัดรูปขบวน 3.การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 4.เคลื่อนไหวกดดัน 5.ใช้คลื่นเสียง 6.แก๊สน้ำตา 7.บังคับร่างกาย 8.ฉีดน้ำ 9.กระสุนยางและอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และ 10.อาวุธปืนเฉพาะบุคคล(จะใช้เพียงกระสุนยางเท่านั้น) ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มขั้นตอนที่ 5 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประกาศแจ้งเตือนต่อผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง "การใช้อุปกรณ์อาจไม่ได้เรียงลำดับตามนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ เช่น ทันทีที่เกิดการปะทะกันของฝูงชน เช่น กลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้ต่อต้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะต้องใช้โล่ กระบองก่อนใช้แก๊สน้ำตา เพื่อผลักดันมวลชนออก ทั้งหมดขึ้นกับเหตุการณ์ เราอาจใช้น้ำก่อนแก๊สก็ได้ การวินิจฉัยว่าจะใช้อะไรก่อนนั้นขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหตุการณ์" พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น