pearleus

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รู้ทันโรคไข้เลือดออก

            ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ    คำโบราณที่บอกว่า  “ยุงร้ายกว่าเสือ   เห็นทีจะเป็นจริงตามนั้นซะแล้ว เพราะผ่านไปแค่ครึ่งปี ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นไข้เลือดออกเกินครึ่งแสน และยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   จะประมาทเจ้ายุงตัวเล็กๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะ ยุงลาย   เพราะไข้เลือดออกนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่   ที่มียุงลายเป็นตัวแพร่เชื้อ แถมยังไม่มียารักษาเฉพาะ  ได้แต่รักษาตามอาการเช่น ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ ให้น้ำเกลือในรายที่อ่อนเพลีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้     ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออก  ก็อาจต้องให้เลือดทดแทน
            พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงควรรู้ การดูแลเบื้องต้นที่บ้าน เมื่อสงสัยว่าบุตรหลานป่วยเป็นไข้เลือดออก      อันดับแรก คือการเช็ดตัว ลด ไข้ในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปีถือว่าสำคัญและจำเป็น เพราะ เป็นการป้องกันการชักจากไข้สูง การรับประทานยาลดไข้ ควรเป็นยาในกลุ่มพาราเซตามอล ไม่ควรรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน หรือยาลดไข้สูงอื่นๆ 
อันดับสอง คืออาหาร ต้องให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด ควรงดอาหารหรือน้ำที่มีสีแดง ดำ น้ำตาล เพราะในผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องคอยสังเกตว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือ เปล่า โดยสังเกตจากอาเจียนหรือถ่าย ถ้ารับประทานอาหารที่มีสีคล้ายเลือดจะทำให้สังเกตได้ยาก ว่าเป็นเลือดหรืออาหารที่รับประทานเข้าไป หากผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ ให้ดื่มนม น้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้
    ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดท้อง ร่วมด้วย
สาเหตุเพราะในระยะแรกๆ ที่มีไข้สูง ผู้ป่วยอาจทานได้น้อย มีคลื่นไส้ อาเจียน ทำให้น้ำย่อยทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงมีอาการเหมือนโรคกระเพาะ
 
สิ่งสำคัญคือต้องระวังอาการอันตราย
            ระยะไข้ลด อุณหภูมิในตัวผู้ป่วยลดลงกว่าเดิม ซึ่งเป็นระยะอันตรายของโรค ผู้ป่วยอาจช็อกหรือมีเลือดออกได้ เป็นระยะที่ต้องดูแลใกล้ชิด อาจต้องวัดความดันโลหิตทุก 1-2 ชั่วโมง หรือต้องสังเกตว่ามีเลือดออกหรือเปล่า
 
หลายคนอาจสงสัยว่าช็อคในระยะไข้ลดเกิดจากอะไร
 
การช็อคในระยะไข้ลดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด มีผลให้น้ำที่อยู่ในเส้นเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด เลือดในเส้นเลือดจึงมีความเข้มข้นสูง การไหลเวียนของเลือดไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ดี จึงเกิดภาวะช็อกได้
 
แล้วผู้ป่วยไข้เลือดออกจำเป็นต้องมีเลือดออกทุกรายมั้ย   
 คงมีคนสงสัยจำนวนไม่น้อยทีเดียว  คำตอบคือ   ไม่จำเป็นต้องมีเลือดออกทุกราย    ผู้ป่วยที่เป็นไม่รุนแรงจะมีเลือดออกไม่มาก เช่น เลือดออกที่ผิวหนังเป็นจุดแดง หรือมีเลือดกำเดาไหล ส่วนผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงหรือมีระยะถึงช็อก อาจมีเลือดออกมากจนต้องได้รับเลือดทดแทน มิฉะนั้น ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต
เมื่อคุณหมอให้บุตรหลานกลับบ้าน  ผู้ปกครองยังต้องระวังอะไรบ้าง
         ผู้ปกครองสามารถให้บุตรหลานทำกิจกรรมได้ตามปกติ ไปโรงเรียนได้ แต่ต้องงดออกกำลังกาย หักโหมหรือทำกิจกรรมที่ร่างกายต้องได้รับการกระทบกระแทก เช่น ขี่จักรยาน เล่นฟุตบอล เล่นพละ เพราะอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้ เพราะเกล็ดเลือดยังไม่ปกติ จึงต้องงดกิจกรรมรุนแรงต่าง ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
การดูแลบุตรหลานที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก   ต้องอาศัยเวลาในการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองบางคนอดหลับอดนอนจนล้มป่วยไปกับบุตรหลานก็มี   ดังนั้น การป้องกันไม่ให้บุตรหลานหลานหรือคนใกล้ชิดป่วย  จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้าป่วยแล้ว มีแต่เสียกับเสีย  เสียเงิน   เสียสุขภาพ  เสียพลังกาย หากรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็จะตามมาด้วยความเสียใจอย่างที่สุดของคนในครอบครัว
            และนี่คือความร้ายของยุงลายที่เล่นงานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

               กำจัดได้  ต้องทำทันที   มัวรอรี   เสียชีวีอย่า...โทษกรรม.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น