pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สื่อมวลชนต่างชาติเยี่ยมชมการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 2 แบบทั้งวิถีชาวบ้านและวิทยาการสมัยใหม่

คณะสื่อมวลชนต่างประเทศเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรีระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2556  เพื่อศึกษาดูงานการแก้ปัญหาคลื่นลมกัดเซาะชายฝั่ง 2 แนวทางทั้งวิถีชาวบ้านด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ การเดินทางลงพื้นที่ของสื่อมวลชนต่างประเทศครั้งนี้ประกอบด้วยสื่อมวลชนจาก Xinhua News Agency, People’s Daily, TV Asahi, Yonhap News Agency, Radio Free Asia ฯลฯ ตามโครงการสื่อมวลชนต่างประเทศสัญจร ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์โดยสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศจัดขึ้น ภายใต้แผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยและภาวะวิกฤต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชนต่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยและภาวะวิกฤตของประเทศไทย และนำข้อมูลไปขยายผลต่อไป การศึกษาดูงานของสื่อมวลชนในพื้นที่ 2 จังหวัดเน้นเรื่องการแก้ปัญหาคลื่นลมกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดเป็นภัยพิบัติที่ต้องหามาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น  ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน  ทำให้พื้นที่สูญหายอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งกว่า 12 ล้านคน สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรชายฝั่งอย่างประเมินค่ามิได้ จุดแรกที่สื่อมวลชนต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมชมคือ บ้านบางบ่อล่าง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาพื้นที่กัดเซาะด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้ไม้ไผ่ปักลงในทะเลเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตรเพื่อเป็นกำแพงชะลอคลื่นลม พร้อมปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์นายวิสูตร นวมศิริ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นแกนนำหลักในการนำแนวคิดการสร้างกำแพงไม้ไผ่จาก ต.โคกขาม จ.สมุทรสาครมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่กัดเซาะในชุมชนจนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลชมเชยในฐานะ “ชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน” จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเมื่อปี 2555  ในปีเดียวกันนี้ ผู้ใหญ่วิสูตรก็ได้รับรางวัลในฐานะนักอนุรักษ์ป่าชายเลน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล “คนดีแทนคุณแผ่นดิน” จังหวัดสมุทรสงคราม และรางวัล “คนไทยหัวใจสีเขียว” สื่อมวลชนต่างประเทศยังมีโอกาสได้ศึกษาดูงานโครงการนำร่องในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง  และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่คือปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ  อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พร้อมรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพด้วย 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น