pearleus

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

อพส. ชี้แจงกรณี “เด็กแฝดเล่นกีต้าร์ ขอค่าเทอม เข้าร้านกาแฟหรู”

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค.62  เวลา 10.30 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ เปิดเผยถึง กรณีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทาง Social Media “พบเด็กแฝดเล่นกีต้าร์ ขอค่าเทอม เข้าร้านกาแฟหรู” ดังนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง  พบว่าเด็กทั้ง 2 คน  ได้ไปจดแจ้งและขอมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ  แต่เนื่องจากการทดสอบครั้งแรกยังไม่ผ่าน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร  จึงนัดให้ไปทดสอบการแสดงความสามารถใหม่  โดยเด็กทั้งสองมาแสดงความสามารถด้วยความสมัครใจไม่ได้มีการถูกบังคับแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการขอมีบัตรผู้แสดงความสามารถและการแสดงความสามารถในที่สาธารณะโดยภายหลังหากเด็กได้รับบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถแล้ว จะต้องไปขออนุญาตท้องที่เพื่อแสดงความสามารถในพื้นที่อย่างถูกต้องต่อไป  ซึ่งมารดาเด็กเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าวแล้ว 

นางนภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้แสดงความสามารถที่ทำการแสดงจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้แสดง ความสามารถ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นขอมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถได้ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร สำหรับในส่วนภูมิภาคขอมีบัตรได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

ทั้งนี้ผู้แสดงความสามารถจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถจากคณะกรรมการ จึงจะได้รับบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถและเมื่อจะทำการแสดงความสามารถ ณ พื้นที่ใด ก็จะต้องขออนุญาตจากท้องถิ่นนั้น ๆโดยปัจจุบันมีผู้ที่จดแจ้งเป็นผู้แสดงความสามารถ จำนวนทั้งสิ้น  4,174 คน

โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถให้เป็นมืออาชีพ มีบุคลิกภาพที่ดี สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาศักยภาพผู้ที่มีบัตรผู้แสดงความสามารถไปแล้ว 339 คน  สำหรับในปีงบประมาณ 2562 นี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ (Smart on street )  4 ภาค เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้แสดงความสามารถสู่มืออาชีพ

นอกจากนี้ตามแผนขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2564) ได้กำหนดเป้าหมายลดจำนวนผู้ทำการขอทาน และเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ทำการขอทาน รวมทั้งการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้วยการฝึกทักษะอาชีพ จัดหางาน และส่งเสริมด้านการศึกษา อนึ่ง การแก้ไขปัญหาขอทาน จะประสบผลสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ซึ่งเป็นผู้หยิบยื่นเงินให้แก่ผู้ทำการขอทาน ถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ขอให้ท่านโปรดฉุกคิดสักนิดถึงผลกระทบจากการให้ดังกล่าวว่าอาจเป็นการส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์ จึงอยากจะสื่อสารสังคมให้เกิดความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้จัดทำคลิปวีดีโอสั้นเรื่อง “ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต หยุดคิด...ก่อนให้ทาน” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขอทานในสังคมไทย สร้างความเข้าใจในการให้ทานอย่างถูกวิธี และการส่งเสริมทัศนคติใหม่ในการ
บริจาคโดยการให้โอกาส การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับบุคคลเหล่านั้น ให้สามารถพึ่งตนเองได้  หรืออาจจะบริจาคให้แก่หน่วยงาน องค์กรที่มีบทบาทภารกิจในการพัฒนากลุ่มเป้าหมายโดยตรง  เพื่อเป็นการร่วมกัน แก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างแท้จริง    นางนภา กล่าวในตอนท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น