pearleus

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์ฉายรังสี สทน.ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ เป็นโรงงานฉายรังสีผลไม้ไทยส่งออสเตรเลีย นำสื่อเยี่ยมเครื่องเร่งอนุภาคตัวใหม่รองรับการส่งออก

ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.เปิดเผยว่า ตามที่ออสเตรเลียได้อนุญาตให้ส่งออกผลไม้ฉายรังสีของไทยไปขายในประเทศออสเตรเลียได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่มีเงื่อนไขว่าโรงงานฉายรังสีต้องได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรของไทย ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์ฉายรังสีของภาครัฐเพียงแห่งเดียวของไทย และเป็นศูนย์ฯที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้สามารถฉายรังสีผลไม้ส่งออก 7 ชนิด ไปยังสหรัฐอเมริกามากกว่า 10 ปี แล้ว จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบมาตรฐานเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศออสเตรเลีย จนผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้สามารถส่งออกผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสีไป จำหน่ายในประเทศออสเตรเลียได้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สทน.ทำงานหนักร่วมกับกรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ผลไม้ไทยได้ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้ผลไม้ไทยที่ผ่านการฉายรังสีเข้าไปจำหน่ายจำนวน 7 ชนิด มาประมาณ 10 ปีแล้ว ส่วนประเทศออสเตรเลีย เพิ่งเห็นชอบรับผลไม้ฉายรังสี เมื่อ2 ปีที่ผ่านมา

"แต่เราก็ยังไม่มีการส่ง  เนื่องจากโรงงานฉายรังสีที่จะให้บริการก็ต้องได้มาตรฐาน สทน.ซึ่งเราใช้เวลา 1 ปีในการปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของออสเตรเลียและได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร นับจากนี้ไปผู้ประกอบการสินค้าส่งออกสามารถนำสินค้ามาฉายเพื่อส่งออกไปสหรัฐ และออสเตรเลียได้  ซึ่งออสเตรเลียรับผลไม้ฉายรังสี 2 ชนิด คือลำไยกับลิ้นจี่ คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า300 ล้านบาทต่อปี"รองผอ.สทน.กล่าว

พร้อมระบุต่อว่า ปัจจุบันศูนย์ฉายรังสี มีเครื่องฉายรังสีแกมมา จากต้นกำเนิดโคบอลด์ 60 การฉายรังสีผลไม้ใช้ในปริมาณที่น้อย 0.2-0.7 กิโลเกรย์ ไม่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภค และไม่ก่อมะเร็ง แต่สามารถทำลายไข่แมลงและควบคุมการเจริญแพร่พันธุ์ของแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคแน่นอน  ซึ่งได้มาตรฐานสากลผ่านการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2000

อย่างไรก็ตามขณะนี้ศูนย์ฉายรังสีได้ขยายโรงงานแห่งใหม่ ในงบประมาณ 605 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพการฉายรังสีด้วยเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งจะทำให้ศูนย์ฉายรังสี สทน.เป็นศูนย์ต้นแบบที่สามารถฉายรังสีอาหาร ผลิตผลการเกษตร และเครื่องมือแพทย์ ด้วยรังสี 3 ประเภท ได้แก่ ลำแสงอิเล็กตรอนให้พลังงานอิเล็กตรอนไม่เกิน 10  ล้านอิเล็กตรอนโวลต์  ,รังสีเอกซ์ไม่เกิน 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ และรังสีแกมมาจากสารต้นกำเนิด โคบอลด์-60  ขณะนี้กำลังทดลองเดินเครื่อง คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2563 

ดร.หาญณรงค์ ให้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมว่า ศูนย์ฉายรังสี เปิดให้บริการมา 30 กว่าปีแล้วและมีปริมาณรังสีลดลงตามค่าครึ่งชีวิต และอีก 15 ปี จะปลดระวางการใช้งานเครื่องเดิม สำหรับเครื่องใหม่มีความคงที่ในการใช้งาน   ใช้อิเล็กตรอนบีม เอกซเรย์ ฉายรังสี ผลไม้และอาหารเพื่อการส่งออกและขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SME  มาใช้บริการฉายรังสี ผลไม้ อาหาร ด้วยการเข้าร่วมโครงการคูปองนวัตกรรมจำนวน 20,000 บาทที่ทาง สนท.จะมอบให้แก่ผู้เข้าร่วม   

"ให้ผู้สนใจติดต่อมาแล้วเราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดู เพื่อการประเมิน ซึ่งเรามีพันธมิตรเช่นมหาวิทยาลัยสุวรรณภูมิ ผมมีตัวอย่างที่ผู้ประกอบผลิตขนมปัง และกุ้งแห้ง มาทดสอบกับเรา พบว่าการฉายรังสีสามารถยืดอายุของกุ้งแห้งออกไปจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน เพื่อให้เก็บได้นานขึ้น สะอาดมากขึ้น และเรามีแล็บใช้ทดลองและการประเมินผล"

ดร.หาญณรงค์ ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความกังวลของผู้บริโภคที่ไม่เข้าใจการฉายรังสีว่า คือการฆ่าเชื้อโรคบางชนิดที่ความร้อนกำจัดไม่ตาย  แต่เมื่อฉายแสงแล้วสามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ และทำให้อาหารหรือผลไม้ อายุยาวขึ้น อย่างแหนมเจ้าดังก็มาฉายรังสีกับเรา ซึ่งจะไม่มีตัวจี๊ด ไม่มีเชื้อโรค ยังมีสมุนไพรหลายๆชนิดที่มาฉายแสงที่นี่ แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่เข้าใจทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์บางชนิดไม่กล้าที่จะเอาเรื่องนี้มาประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจ ให้สังเกตุเครื่องหมาย สีเขียว ของสทน.ที่ติดอยู่ที่สินค้านั้นๆ 
นอกจากนี้ศูนย์ฉายรังสี สทน.ยังเป็นที่รู้จักของทั่วโลก สินค้า 80 เปอร์เซ็น ที่ส่งออกไปยังอเมริกา นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย จะผ่านการฉายรังสีตามมาตรฐานการนำเข้าสินค้าของประเทศที่พัฒนาแล้วดังกล่าว สามารถป้องกันแมลง เชื้อโรคที่จะติดไปยังประเทศเขา แต่คนไทยเรายังไม่เข้าใจ



"การฉายรังสีคือการที่แสงผ่านอาหาร  ผลไม้หรือผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการฉายแสงเพื่อฆ่าเชื้อโรค นำมาซึ่งความปลอดภัย ของเราคนทั่วโลกรู้จัก และยังเป็นหนึ่งในอาเซี่ยนและติดอันดับในเอเชีย นำเงินเข้าจากการส่งออกนับพันล้าน การติดตั้งเครื่องใหม่เพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้แก่ประเทศอีกมหาศาล"

รองผอ.สทน.กล่าวว่า อยากให้ทัศนคติของคนไทยเข้าใจการฉายรังสี  ว่าไม่ใช่การแปดเปื้อนหรือมีสารตกค้างแต่มันคือการวิ่งผ่าน เหมือนที่เราไปเอ็กซเรย์ไม่มีอะไรตกค้างที่ตัวเราฆ่าเชื้อแล้วออกไป อย่างเช่นเครื่องมือแพทย์ทุกชนิดต้องผ่านการฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อ หอม กระเทียม ก็ผ่านการฉายรังสีเพื่อการเก็บรักษาได้นาน ซึ่งยังมีคนไทยถึง 90 % ที่ยังไม่เข้าใจและไม่กล้ารับประทานอาหารที่ผ่านการฉายรังสี  ในปีนี้สทน.จะทำการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น 

นอกจากนี้ศักยภาพของศูนย์ฉายรังสี สทน.ติดอันดับหนึ่งของอาเซี่ยน เพราะมีความชำนาญ  เป็นเจ้าแรกในย่านอาเซี่ยน เป็นที่เรียนรู้ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย  ประเทศที่พัฒนาแล้วที่เน้นการฉายรังสี ออสเตรเลย อเมริกา ยอมรับศูนย์ของเราทั้งสิ้น สำหรับในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นพี่ใหญ่ มีเทคโนนิวเคลียร์ดีที่สุดของโลก แต่ไม่เน้นการใช้รังสี รองลงมาเกาหลี ใช้ในการฉายเครื่องสำอาง มากกว่า แต่ประเทศไทยชำนาญด้านผลไม้และอาหาร 

สำหรับรายรับของการบริการตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อปี เพราะเราเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรายได้เข้าประเทศมีความสำคัญกว่า สนท.จึงจะรณรงค์ให้สินค้าส่งออก ซึ่งหลักๆ เป็นผลไม้อยู่ภาคตะวันออก เพื่อสามารถส่งไปประเทศที่เน้นการฉายรังสีเหล่านั้น โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า คาดว่าจะมีการส่งออกผลไม้มากขึ้น



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น