pearleus

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สมุทรสาคร จัดพิธีรำลึก ‘กรมหลวงชุมพร’


วันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นาวาเอกเอกภาพ สายโสภา รอง.ผอ ศรชล. จังหวัดสมุทรสาคร ศรชล.ภาค 1 พร้อมด้วยกำลังพลศรชลจังหวัดสมุทรสาคร และ ศูยน์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  หน้าวัดกำพร้า อ.เมืองสมุทรสาคร และบำเพ็ญพระราชกุศล เพื่ออุทิศให้กับพระองค์ ตามที่ได้ปฎิบัติสืบเนื่องต่อกันมาทุกปี ...........
วันอาภากร ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับสมัญญาเป็น องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ ซึ่งทหารเรือยกย่องและเทิดทูนพระเกียรติคุณอย่างสูงสุด เนื่องจากพระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือและนำความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองมีสมรรถภาพสู่กองทัพเรือเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ทำให้ทัพเรือไทยทันสมัยมีมาตรฐาน และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศ กองทัพเรือจึงกำหนดให้ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันอาภากร ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ เพื่อเป็นการเทิดทูน เผยแพร่พระเกียรติคุณ และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อ 19 ธันวาคม 2423 เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทรงมีจุดประสงค์แรงกล้าจะฝึกให้ทหารเรือไทยเดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ และสามารถรบทางเรือได้ เนื่องจากอดีตประเทศไทยต้องว่าจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้บังคับการเรือโดยตลอด
ภายหลัง พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ ระบบการปกครองบังคับบัญชา ตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือแบ่งให้นักเรียนชั้นสูงบังคับบัญชาชั้นรองลงมา
นอกจากนี้ยังทรงจัดเพิ่ม วิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้นเพื่อให้สำเร็จการศึกษา สามารถเดินเรือ ทางไกลในทะเลน้ำลึกได้แก่ การเดินเรือ ดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ
เมื่อ พ.ศ.2462 พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ โดยนำ เรือหลวงพระร่วง จากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวเเรงที่สำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อ 20 พ.ย. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมั่นคง (กองทัพเรือยึดวันดังกล่าวเป็น วันกองทัพเรือ)
จากที่พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เนื่องจากทรงพิจารณาว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวขนาดใหญ่น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้ และเกาะน้อยใหญ่ที่รายล้อมรอบสามารถบังคับคลื่นลมได้ดี อีกทั้งเรือภายนอกเมื่อแล่นผ่านพื้นที่จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้
ด้านการแพทย์ ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและใช้เวลาหลังทรงเกษียณเสด็จไปรักษาโรคแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็งซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเรียกพระองค์ท่านว่า "เตี่ย" (พ่อ) ซึ่งต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ขณะที่คนไข้ชาวไทยมักเรียกพระองค์ว่า "หมอพร"
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อ 19 พฤษภาคม 2466 เวลา 11.40 น. ยังความโศกเศร้ามาสู่บรรดาทหารเรือยิ่งนัก
ขอบคุณข้อมูล: http://www.navy.mi.th








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น