ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืนควบคู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ ในกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ท่องป่าไร่นาสวนผสมมหาชีวาลัยอีสาน สู่อุทยานการเรียนรู้” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยพ่อ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา “ศาสตร์พระราชา” พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชนต่อไป
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การเดินทางตามรอยพ่อ ศึกษาคุณธรรมศาสตร์พระราชา ณ แห่งเรียนรู้มีชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ เป็นการตามรอยพระราชา เรียนรู้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ณ มหาชีวาลัยอีสาน และศูนย์การเรียนรู้พ่อคำเดื่อง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสองเส้นทางศึกษาการเรียนรู้ ในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจากหนังสือโครงการตามรอยพระราชาที่คัดสรรเป็นจำนวน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา พร้อมทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาให้ทุกท่านได้สัมผัส เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา นอกจากนั้นยังมีส่วนในการปลูกจิตสำนึกคนไทยให้มีความศรัทธา ความจงรักภักดี สำนึกรู้ในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน จนก่อเกิดเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ชาวบ้านนำมาปฏิบัติตามจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น”
นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ ที่สำคัญ ในเดือนตุลาคม ยังเป็นเดือนที่เราจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระมหากษัตริย์ไทยอีก 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเดียวกันด้วย”
กิจกรรมครั้งนี้พาคณะครูเดินทางสู่ “มหาชีวาลัยอีสาน” อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ฟังการบรรยายจากปราชญ์ชาวบ้าน “แม่ฉวี ปรัชญพฤทธิ์” ผู้สานต่ออุดมการณ์ของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านนักทดลองด้านการเกษตรแห่งอีสานใต้ ผู้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการปลูกป่าแบบไร่นาสวนผสมบนพื้นที่ 400 ไร่ และส่งต่อความรู้สู่ชุมชนด้วยวิถีพอเพียงมายาวนานกว่า 40 ปี มหาชีวาลัยอีสานของครูบาสุทธินันท์นอกจากจะมีแปลงเกษตรประณีตแล้ว ยังมีแปลงสมุนไพร สวนป่ายูคาลิปตัส โรงเผาถ่าน บ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนเลี้ยงวัว เลี้ยงนกกระจอกเทศ เลี้ยงไก่ ไปจนถึงเลี้ยงปลวก เพื่อต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
คณะครูยังได้รับประสบการณ์ใหม่จากการร่วมฐานกิจกรรม อย่างการเดินเล่นท่องป่าไร่นาสวนผสม เรียนรู้การแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกป่า ปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งไม้ผล ไม้ติดแผ่นดิน ไม้เศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ ทำนา รวมทั้งพื้นที่สำหรับบ่อปลา แหล่งน้ำ และพื้นที่สำหรับพักอาศัยอย่างเหมาะสม และทำน้ำมะสัง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น บำรุงร่างกาย แก้ท้องเดิน ท้องอืดท้องเฟ้อ สมานแผล แก้ไข้ อีกทั้งนำมาใช้ได้หลายส่วนทั้งใบ ราก ผลอ่อน แก่น
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไปเยี่ยมชมและทำกิจกรรมที่ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านพ่อคำเดื่อง” อำเภอดงแคน อาณาจักรสีเขียวพื้นที่ 200 ไร่ ที่พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและทำเกษตรกรรมอย่างได้ผล โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถปลดหนี้ได้ และประสบความสำเร็จในวิถีเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีใดๆ อีกทั้งได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับเกษตรกรที่สนใจอย่างต่อเนื่องในแบบ “ชาวบ้านสอนชาวบ้าน”
ปิดท้ายด้วยการเดินทางสู่ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” อำเภอคูเมือง แหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน อีกทั้งทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้คณะครูได้ทำกิจกรรมพับดอกบัวและถวายเป็นราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมถอดบทเรียนนำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส (TRAFS) ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
ทั้งนี้ องค์กรภาคีในการจัดโครงการเดินทางตามรอยพระราชา มีความปีติเป็นอย่างยิ่งที่คณะครูอาจารย์ทั่วประเทศไทย ให้การตอบรับเข้าร่วมตามรอยพ่ออย่างต่อเนื่องตลอด 6 ครั้งที่ได้จัดโครงการ เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2561 จวบจนปัจจุบัน และตั้งใจจะสานต่อโครงการนี้ต่อเนื่องในปีถัดไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อปณิธานตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 อันเป็นความรู้ที่ไม่มีวันล้าสมัยสู่สังคมต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น