สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ร่วมกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนครนายก ส่งเสริมช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯมาทำการจัดจำหน่าย ณ ตลาดเลี่ยงเมือง บริเวณหน้าศูนย์จำหน่ายและผลิต ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเริ่มทุกวันเสาร์ เวลา 12.00 - 18.00 น.เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2562
นายนิธิศ หลีน้อย หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดนครนายก พร้อมนายมานพ ศรีอร่าม พัฒนาการอำเภอบ้านนา ร่วมกันให้ข้อมูลและเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเยือนและจับจ่ายสินค้าจากชาวบ้านและผู้ผลิตโดยตรงในราคามิตรภาพ ซึ่งพัฒนาชุมชน ส่งเสริมให้มีการกู้ยืมเงินทั้งกู้แบบเงินอุดหนุนและแบบดอกเบี้ยราคาถูก ทั้งนี้ตลาดเลี่ยงเมืองจุดดังกล่าวเป็นดำริของผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ต่อยอดจากโครงการโอทอปนวัตวิถี โดยได้ให้งบประมาณมาอีกส่วนหนึ่ง อีกทั้งอยู่ระหว่างการก่อสร้างขนส่งจังหวัดนครนายก ซึ่งจะเป็นจุดที่มีผู้คนจำนวนมากมาใช้บริการในบริเวณนี้ และในอนาคตจะขยายเวลาเป็นเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ด้วย นายมานพ นายนิธิศ
สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่าย เป็นของกลุ่มอาชีพต่างๆเช่น กลุ่มอาชีพสตรี ร้านค้าประชารัฐ โอทอป เริ่มเปิดตลาดเลี่ยงเมืองแห่งนี้มาประมาณ 3 สัปดาห์ ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ มีร้านค้าจำนวน 20 ร้าน จาก 4 อำเภอของจ.นครนายก หมุนเวียนกันนำสินค้าของตนเองมาจำหน่าย หลากหลาย เช่น ข้าวสูตะบุตร ข้าวที่ถือกำเนิดที่ อ.บ้านนา ข้าวไรท์เบอรี่ ปลาแดดเดียว ปลาเผา กุ้งเผา กะปิ น้ำพริกแปรรูปจากปลา ปลาส้ม ผลไม้ดอง กล้วย ผักตัดใบที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้าน และกลุ่มเทียนหอม ฯลฯ เท่ากับว่าเราเป็นผู้หาตลาดให้ผู้ผลิตสินค้าอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ราคาขายจึงจะถูกกว่าที่อื่น
ทั้งนี้สตรีที่ต้องการมีรายได้และมีอาชีพสามารถสมัครสมาชิก เพื่อการรวมกลุ่มกัน 5 คน เสนอโครงการขอเงินอุดหนุนในการประกอบอาชีพ จำนวนไม่เกิน 2 แสนบาท โดยต้องเขียนเสนอโครงการ เขียนคุณสมบัติ ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนซึ่งจะมีเงินหนุนอยู่ทุกจังหวัด มีรูปแบบการเขียนและมีพัฒนากรเป็นพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริม สตรีผู้ด้อยโอกาส พิการ หรือมีปัญหาด้านอื่นๆ หรือเข้าไป ที่ http://www.cdd.go.th/our-services/women-empowerment-fund
ส่วนการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว เมื่อเดินทางมาจับจ่าย ณ MARKET เลี่ยงเมือง นครนายก นั้น นายนิธิศและนายมานพ บอกว่า มีอยู่จำนวนมาก อาทิ กลุ่มชาติพันธ์ ภูกะเหรี่ยง , เขื่อนขุนด่านปราการ , พิพิธภัณฑ์สงครามโลก , บ้านเขาทุเรียน ,เขาพระ,เขาชะโงก , โรงเรียนเตรียมทหาร จปร., มีแผนที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยง จากแอ่งใหญ่ลงไปยังแอ่งเล็ก ตามสื่อโซเชียลให้ติดตามมากมาย โดยหัวหน้าส่วนราชการทั้งสองท่าน กำชับว่า มานครนายก ลืมอะไรลืมได้ อย่าลืม ตลาดเลี่ยงเมือง แวะอุดหนุนสินค้าสารพันจากชาวบ้าน
พร้อมกันนี้เรายังได้รับฟังเกร็ดประวัติศาสตร์ อย่างภาคภูมิใจจากนายมานพ ว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพของญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพที่จังหวัดนครนายก และชาวบ้านในอำเภอใกล้เคียงก็พากันมาขายสินค้ากันถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นมี"แม่"ของตนอยู่ด้วย เป็นสาวน้อยอ.บ้านนา วัย 18 ปี ขายขนมพื้นบ้าน เช่น ซาลาเปาทอด ขนมไข่หง ให้กับทหารญี่ปุ่น และเราเราค้นเพิ่มเติมพบว่า สาวน้อยท่านนั้นชื่อ "พันนา" ได้รู้จักสนิทสนมกับแพทย์ทหารญี่ปุ่นนามว่า ซาโต้ เมื่อสนิทกันได้สักพัก ซาโต้ก็ได้สอนพันนาทำขนมโมจิ ซึ่งลักษณะของขนมโมจิที่ทหารญี่ปุ่นสอนเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีใส้เป็นถั่วแดงกวน นำมาห่อกันแล้วนำไปต้มจนสุก หลังจากนั้นนำมาคลุกด้วยแป้งเพื่อป้องกันไม่ให้ขนมติดกัน รสชาติจะออกหวานนำนิดหน่อย สาวชาวบ้านก็ทำขนมโมจิให้ทหารหนุ่มชิม ปรากฏว่าซาโต้ ประทับใจมากและบอกว่าเป็นขนมโมจิที่อร่อยที่สุดเท่าที่เขาเคยกินมาเลยทีเดียว อีกทั้งยังบอกกับพันนาว่า ให้ถือว่าขนมโมจิเป็นตัวแทนของเขา ถ้าคิดถึงเขาเมื่อไรให้เธอทำขนมโมจิกินเพื่อระลึกถึงเขาได้เสมอ แต่ก็เลือนหายไปเมื่อทางการสั่งห้ามทำ ห้ามกิน ขนมโมจิยุคประวัติศาสตร์ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบถึงประวัติขนมโมจิ และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารคนสนิทไปสืบหาขนมโมจิต้นตำรับชาวไทยมาให้เสวย บรรดาทหารก็นำขนมโมจิจากที่ต่าง ๆ มาถวาย แต่ก็ไม่ถูกพระทัย ไม่ใช่ขนมโมจิสูตรที่ตามหาอยู่
ต่อมาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดนครนายก ได้ประชาสัมพันธ์และสืบหาจนได้ทราบจากนายมานพ ศรีอร่าม ข้าราชการพัฒนาชุมชน ว่าผู้ที่ทำขนมโมจิดังกล่าวคือ มารดาของตัวเอง ซึ่งตอนนี้มีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังความจำดี สามารถเล่าเรื่องราวในครั้งอดีต และทำขนมโมจิถวายไหวอยู่ ซึ่ง นางพันนา ก็เต็มใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำขนมโมจิ ด้วยตัวเองอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการทำขนมโมจิถวายฯ นางจึงปลื้มปิติเป็นล้นพ้น สมกับการรอคอยที่จะได้ทำขนมโมจิเพื่อระลึกถึงนายแพทย์ทหารซาโต้ ที่ไม่ว่าจะนานเท่าไร สาวบ้านนาพันนาก็ยังไม่เคยลืม
ปัจจุบันนางพันนาได้เสียชีวิตลงแล้ว และได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่งท้าย และขนมโมจิก็ได้ถูกดัดแปลงปรับปรุงให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งไส้ต่าง ๆ กลิ่น สีและรสให้เลือกมากมาย ที่ถึงแม้จะไม่ใช่สูตรต้นตำรับจริง ๆ จากญี่ปุ่น แต่ก็มีความคล้ายคลึงและอร่อยไม่แพ้กัน ปัจจุบันพี่สาวของนายมานพ ได้สืบทอด ทำขนมเพื่อใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของทางการ และต้องสั่งล่วงหน้าเท่านั้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น