pearleus

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

พม.มอบโล่เชิดชูเกียรติตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรง 76 จังหวัด เสริมพลังเครือข่ายเพือการป้องกัน/แก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.40 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณรางวัลตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรง จำนวน 76 รางวัล (1 จังหวัด 1 ตำบล) เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเป็นต้นแบบในการทำงานให้แก่พื้นที่อื่นๆ กล่าวรายงานโดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยมี คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พม. ประธานศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) หรือผู้แทน จำนวน 76 คน และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 จังหวัด รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานจากภายนอก ผู้แทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 300 คน
นายปรเมธี กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดีกับ ศปก.ต. ทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบโล่เกียรติคุณตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงในวันนี้ และขอขอบคุณคณะทำงาน ศปก.ต. และภาคีเครือข่ายทุกอาชีพ ทุกท่าน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจดำเนินงานร่วมกับ พม. อย่างต่อเนื่องตลอดมา

นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ จากระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว www.violence.in.th ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี 2561 พบว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 1,297 เหตุการณ์ และข้อมูลรายงานสถานการณ์ทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี 2561 มีการกระทำความรุนแรงในสังคม รวม 2,794 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัว 1,836 ราย และเป็นความรุนแรงภายนอกครอบครัว จำนวน 958 ราย ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมอีกด้วย 

ทั้งนี้พม.ได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สังคม ตลอดจนเสริมสร้างกลไกระดับชุมชนพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และในปี 2562 ได้ดำเนินโครงการสำคัญ (Flagship Projects) โครงการสังคมไทยไร้ความรุนแรง มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศเจตนารมณ์ คน พม. ไร้ความรุนแรง (Non-domestic violence, Non-sexual harassment, Non-discrimination) และตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ (Zero Violence) (1 จังหวัด 1 ตำบล) ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดต้นแบบในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงตั้งแต่ระดับชุมชน โดยการบูรณาการทำงานของหน่วยงานภายในกระทรวง ตลอดจนเครือข่าย และองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและคุ้มครองสถาบันครอบครัวในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งสมตามเจตนารมณ์

สำหรับตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงที่ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในวันนี้ ขอให้มีการขยายผลการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ สามารถบูรณาการการทำงานดูแลครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคมทุกช่วงวัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีให่แก่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ อันนำไปสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมเข้มแข็ง ไร้ความรุนแรงต่อไป นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย 





       

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นหน่วยงานหลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดครอบครัวมากที่สุด เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ศพค. ขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

ทำให้ขณะนี้มี ศพค. จำนวน 7,133 แห่ง และครบทุกจังหวัด ต่อมาได้ดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพของคณะทำงาน ศพค. และมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ให้ครบทุกอำเภอจำนวน 878 แห่ง ซึ่งขณะนี้ มี ศปก.ต. เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 705 แห่งมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของครอบครัว โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสหวิชาชีพในระดับพื้นที่ แต่เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในปัจจุบันส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงปัญหาและความรุนแรงในสังคมรูปแบบอื่น ๆ ด้วย จึงคาดหวังให้ ศปก.ต. มีการดำเนินงานครอบคลุมถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เพื่อดูแลทุกกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของกระทรวง พม. และตามช่วงวัยของครอบครัว

อย่างไรก็ตามการมอบโล่เกียรติคุณตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงในครั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดคัดเลือก ศปก.ต. ที่มีความโดดเด่น มีความพร้อมและมีการดำเนินงานเป็นไปตามเกณฑ์การดำเนินงานของ ศปก.ต. ในด้านต่างๆ 7 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการสร้างเครือข่าย ด้านการสำรวจข้อมูลชุมชน ด้านการจัดทำแผนการดำเนินงาน ด้านการจัดกิจกรรม ด้านการบูรณาการความร่วมมือ ด้านการถอดบทเรียน และด้านการวัดความพึงพอใจในการให้บริการ โดยคัดเลือกจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งหมด 76 จังหวัด เพื่อเป็น ศปก.ต. ต้นแบบในการดำเนินงานให้แก่ ศปก.ต. พื้นที่อื่นต่อไป นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น