สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (ช.) ในฐานะเลขานุร่วมการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” ยิ่งใหญ่ ฉลองครบรอบ 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยนำผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก
โดยในปีนี้ “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019)” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น.
โดยการจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”
โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานสำคัญตามพันธกิจของ วช. เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่นสร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ
รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดย วช. ได้มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2517สำหรับในปีนี้ วช. ได้พิจารณาและอนุมัติให้รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ดังนี้
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 10 ท่าน โดย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ นายแพทย์พลรัตน์ วิไลรัตน์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนลีสุรนารี สาขาปรัชญา ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล จากคณะวิจิตรศิลป์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรสักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาสังคมวิทยา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 40 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น จำนวน 1 ผลงานได้แก่ ผลงานโครงสร้างระดับนาโนเมตรที่ซับซ้อนและการประยุกต์ใช้งานด้านพลังงานและเซ็นเซอร์ ของศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ
รางวัลวิทยาพนธ์ จำนวน 45 เรื่อง มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ การใช้สารสกัดชาเขียวปราศจากคาเฟอีนร่วมกับการออกกำลังกายแบบสมัครใจป้องกันโรคอ้วนลงพุงในหนูอ้วนอาหารไขมันสูง ของ ดร.สุดาทิพย์ แซ่ตั้น
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 51 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีมาก จำนวน 8 ผลงาน ได้แก่ PSU–VisDNA Kit : ชุดน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์ครบวงจรสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากวัตถุพยานชีวภาพ ของผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร และคณะ กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟน : ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่บนสมาร์ตโฟน ของศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ กระดูกเทียมก้อนแข็งเนื้อพรุนผลิตจากเปลือกหอยเคลือบข้าว ของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิพร บุณยนิตย์ และคณะ นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสดโดยใช้ RF Dry Blanching ยับยั้งการทำงานของเอนไซน์ คงสภาพสีและกลิ่นรสของสมุนไพรในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุง ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ และคณะ “คลีน” นวัตกรรมใหม่เพื่อการจับตัวน้ำยางแบบประหยัดน้ำ และลดน้ำเสียในกระบวนการผลิตยางแผ่น (รมควัน) ของนายภูริพงศ์ วรรณวิไล และคณะ เครื่องจักรกลแปรรูปกุ้งสำหรับอุตสาหกรรมอาหารญี่ปุ่นเพื่อการส่งออก ของ ดร.พิพัฒน์พงศ์ วัฒนวันยู และคณะ
เครื่องค้นหูกแบบกึ่งอัตโนมัติ ของนายสมนึก มังกะระ และคณะ และอาษาเฟรมเวิร์ค ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด และคณะ
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ www.inventoday.nrct.go.th หรือลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยผ่านระบบ QR Code ได้ที่หน้างาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2561 6445 ต่อ 524
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น