ในการนี้ นางพัชรี อาระยะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. ได้ให้เกียรติร่วมอภิปรายเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพของสตรีในสังคมผู้สูงอายุ” สำหรับการจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นโดย คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยึดหลักธรรมาภิบาลและการดำเนินชีวิตตามวิถีอิสลาม และเป็นองค์กรทางศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองของสตรีมุสลิมในกรุงเทพมหานครให้มีความเข้มแข็งและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในมัสยิดและชุมชน
รวมทั้งเป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนากลไกและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมัสยิด และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมในชุมชนมุสลิม ไปพร้อมกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เด็ก สตรี และผู้สูงอายุนายเลิศปัญญา กล่าวว่า การจัดงานวันสตรีมุสลิม กทม. ในวันนี้ ถือเป็นการรวมตัวของสตรีชาวไทยมุสลิมทั่วกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการในการแสดงศักยภาพ พลัง และความเข้มแข็งของสตรีที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของการออกร้านเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของแต่ละมัสยิดที่สตรีมีบทบาทนำในการออกแบบและผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ร่วมกับสมาชิก และร่วมมือกับเครือข่ายกลุ่มสตรีต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรู้และเพิ่มพูนความสามารถของสตรีตามหลักการของอิสลาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนา การทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม การเป็นผู้นำและการสร้างการยอมรับ และการเสริมพลังในทางสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การขยายวงของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาและผาสุกอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม ไปสู่ระดับประเทศ
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น มีความสอดคล้องกับภารกิจของ พม. ในด้านการพัฒนามนุษย์และสังคมให้มีคุณภาพ โดยมุ่งส่งเสริมและพัฒนาสตรีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักดีว่า สตรีเป็นพลังสำคัญที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวอันเป็นรากฐานของสังคม และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีบทบาทยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
"พม. จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสตรีมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองในทุกวาระต่าง ๆ และมีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามวิสัยทัศน์การพัฒนาสตรี ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 - 2564 ว่า ด้วยการ“สร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติ สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคงปลอดภัย ร่วมสร้างชาตินำสมัย” โดยดำเนินการไปพร้อมกับทิศทางพัฒนาประเทศในเรื่องของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นฐานคิดที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ระหว่างปี 2560 – 2564)
ควบคู่กับการยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “คนเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา”
พร้อมระบุในตอนท้ายว่า “บทบาทสตรี” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากปัจจัยที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่น ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินทุนการฝึกอบรม การฝึกทักษะ เพื่อให้ความช่วยเหลือ พัฒนา และส่งเสริมบทบาทสตรีอย่างตรงประเด็น 2) การเปิดโอกาสหรือมีเวทีที่เปิดโอกาสให้สตรีได้แสดงศักยภาพของตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น การออกร้านผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยสตรี การเป็นผู้นำชุมชนด้านการฝึกอาชีพ หรือด้านการป้องภัยทางสังคม
3) การเห็นคุณค่าในตนเอง รู้ว่าตนเองมีความสามารถอะไร ก็แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ในขณะเดียวกัน หากไม่มีความรู้ก็ควรขวนขวาย เสริมเพิ่มความรู้ให้ตนเองเพิ่มขึ้น และ 4) ความรัก ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและชุมชน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดบทบาทสตรีในบริบทต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม และสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจและการอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัวและชุมชน ด้านการเมืองเพื่อความสมานฉันท์ ปรองดอง สามัคคี และสุดท้าย ด้านวัฒนธรรมที่สืบสานวัฒนธรรมจริยธรรมอันดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ “บทบาทสตรีกับการพัฒนาสังคม” อย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน
*******************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น