pearleus

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาชนลุยเองเข้าพบกองปราบ แจ้งจับ"บิ๊กขสมก."กรณีเมล์ NGV.ฉาว

จากกรณีที่ประธานบอร์ด ขสมก.ยืนยันและแถลงข่าวอ้างว่า บอร์ด รับรองการประชุมและมีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV. 489 คันวงเงิน 4 พันกว่าล้านบาท จนนำไปสู่การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.60 ท่ามกลางข้อครหาในหลายประเด็นตามที่เป็นข่าวมอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดประชาชนเข้าแจ้งความกองปราบฯดำเนินคดีผู้บริหารขสมก.แล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.61  นางสาวเบญจวรรณ สุขประพฤติ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์  มณีศิริรัตน์  ทนายความ ได้เดินทางมาที่กองบังคับการปราบปรามและได้เข้าพบ ร.ต.อ.พิชานนท์ ปลื้มสุด รองสารวัตร (สอบสวน) กก.1 บก.ป เพื่อแจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับการกระทำความผิด ของนายณัฐชาติ จารุจินดา และ นายประยูร  ช่วยแก้ว กับพวก ในข้อหาหรือฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502  กล่าวคือ  เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เวลากลางวัน  นายณัฐชาติ ในตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก. และนายประยูร  ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการขสมก. และทำหน้าที่เลขานุการกรรมการบอร์ด ขสมก.  ได้ร่วมกันจัดให้มีการประชุมบอร์ดและลงคะแนนเสียงมีมติให้ บริษัท ช ทวี จำกัด ได้รับสัญญาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน จาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้เนื่องจากในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 นายประยูร  ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการขสมก.  ไม่มีอำนาจและหน้าที่เป็นกรรมการของการขนส่งมวลชนกรุงเทพ  ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 มาตรา 27  แต่ทำหน้าที่เป็นกรรมการและลงมติในที่ประชุมบอร์ด  ทั้งที่ไม่มีอำนาจ  และนายณัฐชาติ  ในตำแหน่งประธานกรรมการบอร์ด  ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่านายประยูร ไม่อาจทำหน้าที่เป็นกรรมการและลงมติในที่ประชุมบอร์ดได้   แต่นายณัฐชาติ กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่   เจตนาให้มีการประชุมและลงมติบอร์ด ขสมก.โดยมิชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ดังกล่าว  และต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 นายณัฐชาติ ยังได้จัดให้มีการรับรองการประชุม  เพื่อให้การรับรองการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ทำให้มีการจัดซื้อรถโดยสารปรับจำนวน 489 คัน กับ บริษัท ช ทวี จำกัด ในราคา 4พันกว่าล้านบาท โดยนายณัฐชาติ และนายประยูร กับพวก ได้ร่วมกันกระทำความผิด

นอกจากนี้ทั้งสองคนยังอ้างว่าการประชุมบอร์ด ขสมก. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2560  มีกรรมการเข้าร่วมประชุมบอร์ดและมีมติเห็นชอบ 6 ต่อ 4 เสียง (จำนวน 10 ท่าน)  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการประกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 9 ท่าน เนื่องจากพลโทวราห์ บุญญะสิทธิ์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมบอร์ดในครั้งนี้เพราะเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม  2560  ซึ่งกรรมการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นั้น  ได้มีการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจำนวน 10 คน  และมีผู้อำนวยการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 มาตรา 14  แต่ขณะเกิดเหตุ  ตำแหน่ง ผอ.ขสมก.ยังว่างอยู่  มีนายประยูรเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 มาตรา 27 ผู้รักษาการโดยตำแหน่งไม่มีอำนาจเป็นกรรมการและลงมติให้ความเห็นชอบ  ฉะนั้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2560 จึงมีกรรมการเข้าประชุมเพียง 9 คน     ซึ่งนายณัฐชาติ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนอ้างว่า บอร์ด ขสมก.ได้มีมติเห็นชอบ 6 ต่อ 4 เสียง ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสารดังกล่าว ให้กับบริษัท ช ทวี จำกัด

พร้อมกันนั้น นายประยูร   ยังได้มีหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดว่า “ในการประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ซึ่งในวันดังกล่าว มีคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การเข้าร่วมประชุมจำนวน 10 ท่าน” จึงชัดเจนว่านายณัฐชาติ และนายประยูร กับพวก ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย และมีการแถลงข่าวเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไป ให้เชื่อว่ามีมติของคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าบุคคลทั้งสองดังกล่าวกระทำความผิด เห็นได้จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2558 มีการเปิดประมูลสัญญาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ช ทวี จำกัดในราคา 3,800 ล้านบาท แต่มีการร้องเรียนจนต้องล้มการประมูล และจัดให้มีการประมูลใหม่  ผู้ชนะคือบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ชนะการประมูลจำนวน 3,389 ล้านบาท  แต่มีข้อติดขัดจนต้องยกเลิกสัญญาไปอีก  จนกระทั่งการประชุมและลงมติบอร์ด ชสมก.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 กลับมีการลงมติเพื่อให้มีการจัดซื้อรถโดยสารNGV จำนวน 489 คัน กับ บริษัท ช ทวี จำกัดจำกัด ในราคาสี่พันกว่าล้านบาท  ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าที่เคยทำสัญญาไว้กับบริษัท ช ทวี จำกัดและบริษัทอื่นในครั้งก่อนจำนวนหลายร้อยล้านบาท  เชื่อว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้เกิดเสียหายต่อ ขสมก.และประเทศชาติ  รวมทั้งประชาชนโดยรวม 

นางสาวเบญจวรรณ กล่าวว่า ตนในฐานะประชาชนไม่มีส่วนได้เสียไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวกับการจัดซื้อ ขอใช้สิทธิ์ประชาชนแจ้งความดำเนินคดีกับนายณัฐชาติ    และนายประยูร   กับพวก  ตามกฎหมายในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 จึงมาร้องเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อสังคมและส่วนรวม


*******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น