pearleus

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

สค. เดินหน้าเร่งหามาตรการคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นำโดย นางสาวสิริวรรณ เย็นตั้ง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมความเข้าใจในการคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีคณะกรรรมการ และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น หาแนวทางปฏิบัติ ปัญหา และข้อเสนอแนะต่อระเบียบฯ การยื่นคำร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พ.ศ. 2559 ตลอดจนทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกร่วมกันจากการประสบปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานมาให้สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป
         
นางสาวสิริวรรณ กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะกลไกรัฐที่มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในการป้องกันคุ้มครอง และเยียวยาบุคคลทั้งหญิง และชาย รวมทั้งกลุ่มผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด จากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
นับแต่ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 สค. ได้ปฏิบัติงานตามภารกิจใน พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ จัดทำระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ วิธีปฏิบัติ และแนวทางในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธ
รรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่วินิจฉัยคำร้องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งได้พบปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ จากการปฏิบัติงาน จึงนำประเด็นข้อขัดข้องดังกล่าวมาทบทวน ทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกร่วมกันในวันนี้
          นางสาวสิริวรรณ กล่าวต่ออีกว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ มีทีมวิทยากรเป็นคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ วลพ. ร่วมเสวนาสรุปการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ วลพ. พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อระเบียบ พม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณา และการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พ.ศ. 2559 หลายท่าน ได้แก่ รศ. มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานคณะกรรมการ วลพ. และประธานอนุกรรมการ วลพ. คณะที่ 1 นางวณี ธิติประเสริฐ ประธานอนุกรรมการ วลพ. คณะที่ 2 นายวิเชียร ชวลิต ประธานอนุกรรมการ วลพ. คณะที่ 3 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ประธานอนุกรรมการด้านนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ดร. อัญชลี มีมุข กรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และนางสาวนัยนา สุภาพึ่ง อนุกรรมการ วลพ. คณะที่ 1 เป็นต้น
          “ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญแก่คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมระเบียบและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไป” นางสาวสิริวรรณ กล่าวในตอนท้าย
*********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น