เวทีนักสู้
เรืองฤทธิ์ อุบลไทร สุดยอดนักพัฒนาแห่ง
ต.ท่าทราย
พลิกชีวิตจากฝุ่นมาเป็นดิน
จากดินมาเป็นบัณฑิต
เมื่อเอ่ยถึงต.ท่าทราย สมุทรสาครแล้ว หลายคนคงคุ้นเคยกันดีในฐานะที่เป็น ‘ตำบลดัง’แห่งหนึ่งของจ.สมุทรสาคร
ที่มีเรื่องราวสารพัดให้กล่าวขาน ทั้งในแง่มุมทางการเมืองและการขยายตัวพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ต.ท่าทราย ในปัจจุบันถูกปกครองในรูปแบบ องค์การบริหารส่วนตำบล มีนายก
อบต.เป็นผู้บริหารสลับสับเปลี่ยนตามที่ประชาชนจะเห็นดีเห็นงามว่า ยุคนั้นสมัยไหน ใครสมควรเข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่
เรืองฤทธิ์
อุบลไทร ถือเป็นอีกหนึ่ง (อดีต) นายกอบต
ต.ท่าทราย ที่มีชื่อชั้นอยู่พอตัวกับการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่สร้างสีสันและมีบทบาทอย่างมากบนถนนการเมืองระดับท้องถิ่นในตำบลแห่งนี้
หลายคนรู้จักเรืองฤทธิ์
อุบลไทร เป็นอย่างดี บางคนแค่สัมผัสชื่อเสียงพอห่าง
ๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม คงยังมึน ๆ งง ๆ พร้อมกับคำถามว่า ใครคือ เรืองฤทธิ์
?
เวทีนักสู้ ฉบับนี้ ขอนำเหล้าเก่า (แต่รสชาติคับแก้ว)
รายนี้มาบอกเล่าให้หายคิดถึงกันอีกรอบ ตามประสาคนดังแห่งท่าทราย
ที่มีหลายกระแสเสียงเรียกร้องให้เขากลับมาบริหารพื้นที่อีกคำรบหนึ่ง
………………………………………………………………………………………………….
“ผมเคยเป็นบ๋อยมาก่อนน่ะ ก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองในต.ท่าทราย”
เรืองฤทธิ์
อุบลไทร เปิดฉากการสนทนากับทีมงานเวทีนักสู่ แบบไม่อายใคร กับอดีตที่ต้องสู้ชีวิตในตำแหน่งที่ได้รับเกียรติ
ให้ทำหน้าที่ ‘บ๋อย’ ในขณะที่พี่ชายรับหน้าที่เป็น ‘กุ๊ก’ ร้านข้าวต้มชื่อดังแห่งหนึ่งในสมุทรสาคร กว่า 20 ปี
โดยได้รับเงินเดือน 150 บ. ขณะที่พี่ชายได้อยู่ประมาณ 700
– 800 บ.
เงินเดือนอันน้อยนิดซึ่งก็ไม่ค่อยพอกินกันเท่าไหร่
แต่เรืองฤทธิ์กับพี่ชายก็พยายามเก็บหอมรอมริบจากการประหยัดและอดออด จนเป็นเงินก้อน
และขอลาออกพร้อม ๆ กับความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการทำร้านอาหารที่สั่งสมมา ก่อนดึงพี่ ๆ น้อง ๆ ในบ้านมาช่วยกันทำร้านอาหารเป็นของตัวเอง
ในชื่อ ร้านอาหารป่าคลองครุ ที่เน้นการขายอาหารป่าอย่างชัดเจน ในปี 2527
ทำไม
? ไม่เปิดร้านข้าวต้ม
แต่กลับเป็นร้านอาหารป่า … คนละเรื่องเลยทีเดียว
“ทางครอบครัวผมมองว่า
ร้านข้าวต้มก็เปิดกันเกร่อแล้ว น่าจะทำอะไรที่แตกต่างและคิดว่าน่าจะรุ่งกว่า จึงมาสรุปกันที่ร้านอาหารป่า
เพราะแปลกใหม่มากสำหรับ จ.สมุทรสาคร ซึ่งสมัยก่อนวัตถุดิบหาไม่ยาก อีกอย่างกฎหมายก็ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนปัจจุบัน”
นับแต่นั้นมา
ร้านอาหารป่าคลองครุ ก็ถือเป็นเมกกะความอร่อย
สำหรับคนที่ชอบความท้าทายเรื่องการกิน กับสารพัดเมนูสัตว์ป่าที่รสชาติอร่อย เหมาะสำหรับคนที่ใจถึงที่ต้องการสัมผัสความแปลกใหม่ด้านการกิน
นายเรืองฤทธิ์ ทำขายอาหารป่าขายอยู่ประมาณ 20 กว่าปี ก็ต้องค่อย ๆ
เปลี่ยนเมนูเป็นอาหารพื้นบ้านและอาหารทะเลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากติดข้อกฎหมายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสัตว์ป่า
เมื่อถามถึงเส้นทางสู่ถนนการเมืองระดับท้องถิ่น ในต.ท่าทราย นายเรืองฤทธิ์
ย้อนอดีตเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า เกิดจากมีพรรคพวกที่รักชอบพอนิสัยกัน
เห็นทรงว่าน่าจะเข้ามาทำงานพัฒนาบ้านเมืองได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่พร้อมอยู่แล้ว
เป็นคนที่เกิดที่นี่ รู้จักคนมาก เป็นที่รักของเพื่อนฝูง
รวมทั้งความรู้ความสามารถและรู้จักปัญหาของพื้นที่เป็นอย่างดี
“เมื่อประมาณปี
2538 ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าเกษียณ
ก็มีคนมาชวนผมให้ลงสมัคร เพราะเห็นหน่วยก้านพอได้ เค้าบอกว่าตำบลท่าทรายยังไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่
จึงอยากให้เราเข้ามาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด เลยตัดสินใจลงสมัคร สมัยแรกก็ได้เลย”
แน่นอนว่าการทำธุรกิจร้านอาหารกับการทำงานพัฒนาบ้านเมือง
เป็นคนละเรื่อง มีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ร้านอาหารมุ่งที่รายได้กำไร
หากแต่การทำงานเพื่อบ้านเมืองมุ่งที่ประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ สมัยแรกกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของนายเรืองฤทธิ์
จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัว เรียนรู้ และอยู่ให้ได้กับเงื่อนไขต่าง ๆที่จำกัด
“ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านที่อายุน้อย
แค่ 30 ต้น ๆ เอง พอเข้ามาต้องถือว่าหนักมาก เพราะเราต้องเรียนรู้ใหม่หมด เข้ามา 2 เดือนแรก ผมต้องไปเข้าเรียนที่วิทยาลัยการปกครอง
ที่ปทุมธานี ซึ่งเขาจะสอนบทบาทหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยปัญหาชาวบ้าน
การบำบัดทุกข์บำรุงสุข รวมทั้งเป็นผู้ช่วยนายอำเภอด้วย”
หลังการอบรม
นายเรืองฤทธิ์ ก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับ นำกลับมาพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มกำลัง
ซึ่งผลตอบรับก็คือ ความพอใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ล้วนแล้วแต่พึงพอใจในการดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
จากความมุ่งมั่นและหมั่นเข้าหาประชาชน
ดูแลทั้งทุกข์และสุขให้กับชาวบ้านส่งผลให้นายเรืองฤทธิ์
สามารถครองเก้าอี้ผู้ใหญ่บ้านในต.ท่าทรายได้ถึง 3 สมัย เป็นช่วงเวลาทั้งหมด 15 ปี
ซึ่งถือว่ามีพรรษาที่แข็งแกร่งพอตัวที่จะสามารถไต่ระดับขึ้นมาเล่นการเมืองในเวทีที่ใหญ่กว่า
ในตำแหน่ง นายกอบต.ท่าทราย
“ก็พรรคพวกอีกนั้นแหละที่มาบอกว่า
ถึงเวลาที่ต้องขึ้นมาระดับสูงกว่านี้แล้ว จากการทำงานระดับปกครอง
มาเป็นผู้บริหารบ้าง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง
ลงสมัครครั้งแรกก็ได้รับเลือกตั้งเลยเป็นนายกอบต.ท่าทรายเลย ในปี 2550”
เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายก
อบต.ท่าทราย สิ่งที่ต้องรับเป็นภารกิจหลักก็คือ การดูแลเรื่องงบประมาณในการบริหารพื้นที่
หากแต่สิ่งที่ยากที่สุด คือการบริหารฝ่ายปกครองและสมาชิกอบต. ซึ่งอยู่คนละทีมกัน
ให้ทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่จากประสบการณ์และความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน
ก็ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
นายเรืองฤทธิ์
ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนายก อบต.ท่าทราย ถึง 2
ครั้ง ก่อนที่จะถูกเว้นวรรคทางการเมือง
ซึ่งในระหว่างนี้ก็ใช้เวลาที่ว่าง พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี
ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จนจบปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
และระหว่างเรียนก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง
รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนผู้ใหญ่บ้านให้ดำรงตำแหน่งกำนันในเวลาต่อมา
แต่ก็ขอลาออกในหลังจากดำรงตำแหน่งมาได้ระยะหนึ่ง
ในช่วงท้ายของการสนทนา นายเรืองฤทธิ์ หรือ ท่านนายกที่หลายคนเรียกจนติดปาก
(แม้จะไม่มีตำแหน่งนายก อบต.ท่าทรายก็ตาม)
บอกกล่าวกับเราว่า ท่าทรายในปัจจุบันต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
หลายเรื่องยังไม่ได้เดินหน้าไปเท่าที่ควร
ซึ่งถ้าตนเองได้มีโอกาสกลับมาอีกครั้งก็จะเข้ามาสะสางชนิดที่ว่า ‘ใครไม่ทำเราทำ’ นายเรืองฤทธิ์ว่าอย่างนั้น
พร้อมกับเน้นย้ำกับทีมงานเวทีนักสู่ ด้วยประโยคที่ขอยกมาทั้งหมดว่า
“ผมเชื่อมั่น
และตั้งใจกับการกลับมาอีกครั้ง ความรู้ ความสามารถที่ตั้งใจร่ำเรียนมา
จะนำมาพัฒนาต.ท่าทรายของพวกเราให้มีความเป็นอยู่ดีกินดี และยั่งยืน
ผมให้คำมั่นสัญญาครับ”
………………………………………………………..
ล้อมกรอบ (ทำพื้นหลังเป็นสีอ่อน ๆ
ก็ได้ครับ)
ในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับพื้นที่ท่าทรายมาตั้งแต่กำเนิด
เป็นตั้งแต่ลูกบ้าน จนถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกอบต. สิ่งต่าง ๆ ยอมอยู่ในสายตา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตด้านต่าง
ๆ ตลอดจนถึงปัญหาหมักหมมที่อยู่ในพื้นที่
และยังคงรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตรงจุดนี้ นายเรืองฤทธิ์ เล่าให้เราฟังถึงปัญหาใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในท่าทรายปัจจุบันที่รอการแก้ไข
โดยแบ่งเป็นเรื่อง ๆ คือ
1 . เรื่องปริมาณและการบริหารจัดการขยะที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวันจากประชากรแฝงโดยเฉพาะชาวต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในพื้นที่หลักแสน
รวมถึงขยะที่เกิดขึ้นจากโรงงานในพื้นที่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงบรรดาหมู่บ้านต่าง
ๆ ที่ผลิตขยะขึ้นมาต่อวันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาเหล่านี้นายเรืองฤทธิ์ บอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน
ที่ต้องรีบเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการทำ MOU
กันในระดับจังหวัด เทศบาล อบต.ต่าง ๆ ที่มีปริมาณขยะมาก
ต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ถ้าไม่ทำเชื่อว่าไม่กี่ปีข้างหน้าปริมาณขยะจะล้นเมืองสมุทรสาครอย่างแน่นอน
2. เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
ไฟฟ้าและแสงสว่างตามเส้นทางต่าง ๆ ต้องเพียงพอ
รวมถึงกล้องวงจรปิดที่ต้องมีอยู่ทั่วบริเวณพื้นที่ต.ท่าทราย
เพื่อคอยสอดส่องระวังภัยต่าง ๆ
แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอยู่น้อย
ต้องมีการเพิ่มกล้องวงจรปิดเข้าไปเสริมอีก
รวมถึงการซ่อมบำรุงกล้องเก่าให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เรื่องคุณภาพการศึกษา
ก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนมองข้ามไป
นายเรืองฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า จากที่เคยทำงานในอดีตที่ผ่านมา ทางอบต.ท่าทราย
ได้รับความอนุเคราะห์จากอบจ.สมุทรสาคร ในการนำงบประมาณมาก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง
ๆ หากแต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบันก็คือ การขาดแคลนครู ไม่เพียงสมดุลกับปริมาณเด็กนักเรียนที่มีมากขึ้นทุกปี
ต้องหาครูอัตราจ้างมาเสริมตรงจุดนี้ ซึ่งอบต.ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เด็กในพื้นที่ท่าทรายจะได้ไม่ต้องเดินทางเข้าไปเรียนในตัวเมืองมหาชัย
ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับผู้ปกครองด้วยอีกทางหนึ่ง
…………………………………………………….
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น