เมื่อ 30 ก.ย. 59 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังการปฏิบัติงานในพื้นที่
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย
ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และถ่ายทอดสดการประชุมฯ
ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัดและอำเภอ
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน
ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังการประชุมฯ โดยในการประชุมครั้งนี้ มี
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน
โดยสาระสำคัญในการประชุมฯ มีดังนี้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า
การประชุมในครั้งนี้
เป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงระยะนี้
ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมีการระบายน้ำตอนบนของเขื่อนแควน้อย
และการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
และเพื่อให้ทุกฝ่ายในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
และแม่น้ำป่าสัก จึงขอให้จังหวัดในพื้นที่ใกล้ดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ไปสำรวจ
ตรวจสอบว่ามีพื้นที่ใดเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ หรือได้รับผลกระทบในพื้นที่
เพื่อจะได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชน และเมื่อเกิดเหตุการณ์
ให้เร่งลงไปสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ จุดใดที่มีความเสี่ยงให้ลงไปดูแลด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ให้เร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ทั้งในคันกั้นน้ำ
และนอกคันกั้นน้ำ เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริง และผลกระทบที่จะได้รับ
เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ 2.เมื่อเกิดสถานการณ์สาธารณภัย
ให้จังหวัดจัดตั้ง "กองอำนวยการ" ระดับจังหวัด
เพื่อรับทราบเหตุการณ์และอำนวยการสั่งการ โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่
เพื่อรับฟังและติดตามความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยให้ยึดแนวทางปฏิบัติในการบริหารและติดตามงาน
เช่นเดียวกับโครงการตำบลละ 5 ล้าน โดยเน้นการทำงานร่วมกัน
มีการบูรณาการทุกภาคส่วน รวมทั้งมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา
และจัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรกล
และอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้พร้อมเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที 3.การติดตาม และประเมินสถานการณ์น้ำ
ให้ประสานกับชลประทานและอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
เพื่อการบริหารจัดการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง
เน้นการปิด-เปิด ประตูน้ำเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา
โดยคำนึงถึงความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากภาคเหนือและน้ำจากปริมาณฝนตกในพื้นที่แล้วไหลลงสมทบ
(side flow) มารวมในลำน้ำเจ้าพระยา
ซึ่งจะทำให้ความเร็วในการไหลของน้ำและ
ปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้นทำให้ระดับน้ำสูงด้วย
นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ท่วม ให้จังหวัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อประเมินหรือคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่จะไหลท่วม จะเข้ามาถึงพื้นที่เมื่อใด
เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ
พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตามมาตรการ “1 จุดกักเก็บน้ำต่อ 1 ตำบล” โดยน้อมนำหลักการบริหารจัดการน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
4.ให้ทุกพื้นที่ใช้ทุกช่องทางในการติดต่อสื่อสาร
เพื่อให้ข้อมูลไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เช่น
การลงไปร่วมประชุมกับหมู่บ้าน/ตำบล การประกาศเสียงตามสาย หอกระจายข่าวในหมู่บ้าน
ตลอดจน Line และ Facebook เพื่อสร้างการรับรู้ให้กว้างขวางและทั่วถึง
5.การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ก่อนเกิดเหตุสาธารณภัย
จังหวัดสามารถให้ความช่วยเหลือโดยให้งบประมาณเชิงป้องกันหรือการยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
เพื่อนำมาใช้ในการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดผลกระทบในพื้นที่ เช่น
การขุดแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำหลุมขนมครกตามแนวพระราชดำริ
เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ให้มากที่สุด ส่วนที่ 2
เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่
ให้จังหวัดดำเนินการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และให้ประกาศเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภัย
โดยผ่านความเห็นชอบและการพิจารณาจาก
คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)
นอกจากนี้ ในการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ให้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบประจำพื้นที่ให้ชัดเจนในการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือประชาชน
โดยให้นายอำเภอจับมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
และจะต้องบูรณาการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ
และการแจกจ่ายถุงยังชีพต้องมีความเท่าเทียมกันและ ทั่วถึงทุกจุด
รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
2. การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยใช้ “กลไกประชารัฐ” ในการบริหารจัดการในพื้นที่
โดยให้ทุกจังหวัดได้ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด และชี้แจงถึงแนวทางการทำงาน คณะกรรมการ
และคณะทำงาน ที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการจัดตั้งกิจการที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน
หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยจัดตั้ง “บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด” ขึ้นทุกจังหวัด
เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ โดยไม่ได้วางเป้าหมายเพื่อสร้างกำไร
หากแต่มองการณ์ไกลที่จะเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ
เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนโดยเน้นใน 3 เรื่อง
ได้แก่ 1.ด้านการเกษตร 2. ด้านการแปรรูป
SME/OTOP และ 3.ด้านการท่องเที่ยวชุมชน
จึงขอให้ทุกฝ่ายได้เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน กับ
คณะทำงานระดับจังหวัด และอำเภอ ให้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย
สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย
และฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และบุคคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกระดับได้ร่วมกันทำงานเพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน
รวมทั้งให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสำคัญในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ
หรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง
ขอให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน
เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นจริงอย่างรวดเร็ว
และมอบหมายให้ประชาสัมพันธ์จังหวัดร่วมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น