pearleus

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ข่าวสมุทรสาคร การป้องกันและแก้ไขอุทกภัยจังหวัดสมุทรสาคร

การป้องกันและแก้ไขอุทกภัยจังหวัดสมุทรสาคร
จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๕ ถนนพระราม ๒ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๘๗๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๔๕,000 ไร่
แบ่งการปกครองท้องที่ จำนวน ๓ อำเภอ ๔๐ ตำบล และ ๓๐๓ หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 38 แห่ง ประชากรประมาณ ๔๘๖,000.- คน ๒๒๙,๗๙๓ ครัวเรือน ด้วยพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองและการชลประทานที่ดี จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร ทั้งกสิกรรม การประมง และ การเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 86,600.-ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่อำเภอบ้านแพ้ว
แยกเป็นพื้นที่นา ๗,๖๔๓ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๘.๘ พื้นที่ไม้ผล/ไม้ยืนต้น ๗๑,๓๒๖ ไร่
คิดเป็นร้อยละ ๘๒.๓ พื้นที่พืชผัก ๓,๐๐๘ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๓๕ พื้นที่ไม้ดอก/ไม้ประดับ ๔,๖๘๑ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๕.๔ ขณะเดียวกัน มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดจำนวน ๔,๗๑๑ แห่ง
ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดสมุทรสาคร มีแหล่งน้ำทั้งจากแม่น้ำลำคลองธรรมชาติและคลองขุด มีระบบการชลประทานที่ดี แหล่งน้ำผิวดินในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับน้ำส่วนใหญ่จากแม่น้ำเจ้าพระยา มีโครงการเก็บน้ำจากแหล่งน้ำลำคลองชลประทาน ๑๐ สาย และคลองธรรมชาติกว่า ๑๗๐ สาย และมีแม่น้ำลำคลองที่สำคัญกับระบบการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเป็นอย่างมาก ได้แก่
๑. แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร ไหลผ่านพื้นที่ตอนกลาง ของจังหวัด ยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยามาจากปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แล้วไหลคดเคี้ยวไปตามแนวเหนือใต้ ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกว่าแม่น้ำสุพรรณ ผ่านจังหวัดนครปฐม เรียกแม่น้ำนครไชยศรี ผ่านอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
๒. คลองมหาชัย เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร
๓. คลองพิทยาลงกรณ์ เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นระยะทางประมาณ ๑๖ กิโลเมตร
๔.คลองสุนัขหอน เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองเริ่มจากแม่น้ำท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร ไหลออกสู่แม่น้ำแม่กลอ งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทางยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
๕. คลองภาษีเจริญ เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากแม่น้ำ ท่าจีนทางตอนใต้ของวัดอ่างทอง อำเภอกระทุ่มแบน ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ระยะทางยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร
๖. คลองบางยาง เริ่มจากแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบนไหลไปเชื่อมกับคลองดำเนินสะดวกที่ประตูน้ำบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว ระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
๙. คลองดำเนินสะดวก เริ่มจากประตูน้ำบางยางไหลผ่านอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และอำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทางยาวประมาณ ๓๘ กิโลเมตร (อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครประมาณ ๒๐ กิโลเมตร)

ระบบการชลประทาน
จังหวัดสมุทรสาคร มีพื้นที่ในระบบชลประทาน จำนวน ๓๐๓,๑๔๒ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๕๕.๖ ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรทั้ง ๓ อำเภอ พื้นที่ในระบบชลประทานดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ จำนวน ๑๒๘,๗๐๕ ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก จำนวน ๙๐,๑๙๓ ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม จำนวน ๒๙,๔๖๔ ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม จำนวน ๕๔,๗๘๐ ไร่ และมีพื้นที่ทางตอนล่างของจังหวัดที่อยู่ติดกับชายทะเล เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน ๒๔๒,๐๗๔ ไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานสมุทรสาคร

สภาพน้ำท่า ปัจจุบันมีสถานีวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำตามลำน้ำท่าจีนและลำน้ำสาขา ซึ่งดำเนินการโดย กองอุทกวิทยา กรมชลประทาน รวม ทั้งสิ้น ๑๘ สถานี แบ่งเป็นการวัดระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ๗ สถานี และตามลำน้ำสาขารวม ๑๑ สถานีเนื่องจากปริมาณน้ำท่าที่ไหลอยู่ในแม่น้ำท่าจีนนั้น ได้ถูกควบคุมโดยมีประตูบังคับน้ำตั้งแต่ต้นแม่น้ำมาโดยตลอด กล่าวคือ ทางตอนต้นแม่น้ำเป็นลำน้ำที่แยกตัวมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง โดยมีประตูระบายพลเทพ เป็นอาคารบังคับน้ำที่จะกำหนดค่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลเข้าสู่ แม่น้ำท่าจีนตามจำนวนที่ต้องการนอกจากนั้นในช่วงถัดมาของแม่น้ำท่าจีนได้มีประตูบังคับน้ำอีก ๓ แห่ง คือประตูระบายน้ำท่าโบสถ์ ประตูระบายน้ำสามชุก และประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา

๒. แผนการรับมือน้ำท่วม และการส่งผ่านน้ำ/การผันน้ำ
ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่มีพื้นที่ประสบอุทกภัย แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ เนื่องจากสถานการณ์ตามแม่น้ำสายหลักมีปริมาณน้ำมาก จึงได้มีประกาศจังหวัดสมุทรสาคร ให้จังหวัดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินทั้ง ๓ อำเภอ ทั้งนี้ได้มีการเตรียมครวมพร้อม (Perparation) ไว้ดังนี้
๒.๑ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม พ.ศ. ๒๕๕๔ ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ทุกแห่ง
๒.๒ จัดตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสมุทรสาคร ตามนโยบายของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดลพบุรี โดยจะมีการแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อระดมเงินและสิ่งของอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นทั้งนี้มีกำหนดการที่จะนำไปมอบในวันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้
๒.๓ จัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๒ ครั้ง เพื่อกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ที่มีพื้นที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่างๆ ให้เสริมคันดินหรือวางกระสอบทรายให้สูงจากระดับเดิม อีก ๑ เมตร และให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม รวมทั้งให้สำรวจแม่น้ำ ลำคลอง ว่ามีผักตบชวาหรือวัชพืชกีดขวางทางน้ำหรือไม่ ถ้ามีให้ดำเนินการ กำจัดและแก้ไขโดยด่วน ตลอดจนให้เตรียมการป้องกันสถานที่สำคัญ ประกอบด้วย
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้การสนับสนุนกระสอบทรายป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ไว้จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ ใบ และจัดเตรียมทรายหยาบไว้ สำหรับกรอกใส่กระสอบทราย ซึ่งขณะนี้ ได้แจกจ่ายให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล และ เทศบาลตำบล ต่างๆ นำไปเตรียมดำเนินการป้องกันสถานที่สำคัญต่างๆ ของจังหวัด แล้ว
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ประสานองค์การบริหารส่วนตำบล และ เทศบาลตำบล ต่างๆ ให้จัดเตรียมเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์ตามที่ได้สำรวจและจัดทำบัญชีไว้ ให้พร้อมใช้งานได้ทันที โดยการบริหารจัดการในลักษณะโซนนิ่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

โครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้เตรียมระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากบริเวณที่ตั้งสถานที่สำคัญๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่สถานที่ดังกล่าว เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
องค์การบริหารส่วนตำบล และ เทศบาลตำบล ต่างๆ ได้นำกระสอบทรายบรรจุทรายพร้อม และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ ไปเตรียมดำเนินการเพื่อช่วยป้องกันสถานที่สำคัญต่างๆ และเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ
๒.๔ มอบหมายให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดสมุทรสาคร ประสานขอความร่วมมือเรือประมงที่จอดขวางทางน้ำ ให้จอดในลักษณะไม่ให้ขวางทางการระบายน้ำ
๒.๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหัวหน้าส่วนราชการ ตรวจการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน และตาม ลำน้ำท่าจีน เพื่อติดตามการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งการเสริมคันดินหรือวางกระสอบทรายริมตลิ่งแม่น้ำท่าจีนและตามคลองต่างๆ ให้มีความสูงและแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงดันน้ำได้
๒.๖ จัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดสมุทรสาคร (ก.ช.ภ.จ.) รวม ๒ ครั้ง (วันที่ ๓ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๔) เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาอุทกภัยให้เป็นไปตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเร่งระบายน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้มีการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้
๑) การขุดลอกคู คลอง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลและ อบต.) ดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จ จำนวน ๓๗ คลอง งบประมาณรวม ๒,๒๓๕,๘๐๙ บาทและ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน ๑๙ คลอง ประกอบด้วย
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำเนินการขุดลอก จำนวน ๘ คลอง งบประมาณ ๑๐,๗๑๗,๐๐๐ บาท
- ดำเนินการโดยเงินทดรองราชการฯ ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน ๑๐ คลอง วงเงินงบประมาณ ๑๖,๗๒๔,๗๙๑ บาท หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการจำนวน ๔ คลอง และจังหวัด ดำเนินการจ้างเหมา จำนวน ๖ คลอง)
๒) จัดซื้อเครื่องสูบน้ำ ขนาด ๘ นิ้ว จำนวน ๘ เครื่อง ขนาด ๑๐ นิ้ว จำนวน ๕ เครื่อง และขนาด ๑๒ นิ้ว จำนวน ๒ เครื่อง วงเงินงบประมาณ ๑๒,๒๑๐,๐๐๐ บาท ให้แก่เทศบาลนครสมุทรสาคร เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด โดยการสูบน้ำลงคลองมหาชัย และระบายลงสู่ทะเล ต่อไป
๓) การเร่งระบายน้ำลงทะเลบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน โดยจังหวัดได้นำเรือประมง จำนวน ๑๙ ลำ มาจอดบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน แล้วติดเครื่องเพื่อผลักดันน้ำลงทะเล ทั้งนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไป ๑๕ วัน วันละ ๘ ชั่วโมง ในช่วงน้ำทะเลกำลังลดลง สำหรับเรือประชาอาสา จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประสานกับนายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร ให้เชิญชวนเรือประมงและเรืออื่นที่จอดเทียบท่าอยู่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ขณะนี้รวบรวมได้ ๓๕ - ๔๐ ลำ พร้อมที่จะติดเครื่องเพื่อผลักดันน้ำ โดยจะเริ่มดำเนินการในวันนี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น