pearleus

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตรวจดูความพร้อมคลองภาษีเจริญ”


......นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ได้ร่วมกันลงพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน เพื่อตรวจดูความพร้อมในการเตรียมแนวป้องกันน้ำท่วมที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน รวมถึงสถานที่ราชการสำคัญ และความพร้อมทางด้านของการระบายน้ำคลองภาษีเจริญ เพื่อรองรับการผันน้ำจากคลองทวีวัฒนา ลงมาสู่คลองภาษีเจริญ แล้วระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน ก่อนผลักดันให้มวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยการมาตรวจพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบนครั้งนี้ ก็มีนายสมบูรณ์ บุญแสงทิพย์ นายอำเภอกระทุ่มแบน พร้อมด้วย พันเอกประวิทย์ เสียงสอาด ผู้บังคับการกรมทหารสื่อสารที่ 1 พันตำรวจเอกพลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน นายนิวัฒน์ ขวัญบุญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน นายพหล ขำทอง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสวนหลวง นายประสงค์ อินทร์ดนตรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน  นายมนตรี มณีวงศ์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสำนักชลประทานที่ 11 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มาร่วมกันให้การต้อนรับ พร้อมกับรายงานสถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันที่อำเภอกระทุ่มแบนจะต้องเป็นผู้รองรับมวลน้ำทั้งจากอำเภอพุทธมณฑล อำเภอนครชัยศรอำเภอสามพราน อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานครโดยจากสถานการณ์ ณ วันนี้ พบว่าทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญได้มีการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนตลอดเวลา เพื่อรองรับมวลน้ำจำนวนมากจากคลองทวีวัฒนา ที่ปล่อยลงมาทางคลองภาษีเจริญแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริง มวลน้ำเหล่านั้นกลับไม่ยอมไหลลงมาตามคลองภาษีเจริญหรือทางน้ำที่ได้คาดการณ์ไว้ในทีแรก ซึ่งมวลน้ำจำนวนมากเกือบ 70 % เมื่อทะลักจากคลองภาษีเจริญ พ้นเขื่อนที่กั้นไว้มาแล้ว กลับตีแผ่ออกด้านข้างในลักษณะลามทุ่ง และย้อนกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานคร จะมีบางส่วนไม่เกิน 30 % ที่ไหลลงมาตามคลองภาษีเจริญ โดยหากกรุงเทพมหานครไม่สามารถบังคับน้ำให้ไหลมาทางคลองภาษีเจริญได้ทั้งหมด ภาวะความรุนแรงที่จะเกิดน้ำท่วมอันเนื่องมาจากมวลน้ำในคลองภาษีเจริญที่สมุทรสาคร โดยเฉพาะในอำเภอกระทุ่มแบน ก็จะลดน้อยลง ขณะที่มวลน้ำจำนวนมหาศาล ที่ถูกปล่อยลงมาและได้เอ่อทะลักเข้าท่วมพื้นที่อำเภอศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งทำให้ประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครเกิดความหวั่นกลัวว่า มวลน้ำทั้งหมดจะถูกผันให้ลงมาสู่จังหวัดสมุทรสาคร ตามแม่น้ำท่าจีนและคลองสาขาต่างๆ นั้น ก็พบว่า ในสถานการณ์จริง มวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ท่วมในหลายพื้นที่จังหวัดนครปฐม ยังคงถูกกักเก็บไว้ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดนครปฐมในส่วนที่ถูกน้ำท่วมขังมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ประกอบกับการกั้นแนวป้องกันน้ำท่วมของสถานที่สำคัญ และความสูงของทางรถไฟสายใต้นั้น ก็ยิ่งทำให้พื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำมีมากขึ้น โดยน้ำที่ไหลข้ามทางรถไฟมาได้นั้น จะเป็นเพียงมวลน้ำในลักษณะของน้ำล้นเท่านั้น ความรุนแรงของน้ำก็จะลดน้อยลง  แต่ในขณะนี้เรายังไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่า ลักษณะของน้ำล้นทั้งจากคลองภาษีเจริญและในส่วนที่ข้ามทางรถไฟสายใต้ มีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งเบื้องต้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ก็ได้มีการจัดวางเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ เอาไว้แล้ว และยังได้ขออนุมัติจากทางจังหวัดสมุทรสาครให้จัดซื้อมาเพิ่มอีก 20 เครื่อง เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8 – 12 นิ้ว เพื่อให้การสูบน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น......ด้านนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้อนุมัติเงินจัดซื้อเครื่องสูบน้ำตามขนาดดังกล่าวให้แก่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญทันที เพื่อจะได้นำไปวางตามพื้นที่ๆยังเป็นจุดอ่อนอยู่ และนอกจากนี้ยังจะได้มีการนำเครื่องสูบน้ำไปวางตรงบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน เพื่อเป็นตัวเสริมช่วยแนวป้องกันกระสอบทราย หากกรณีที่มีน้ำท่วมสูงเกิน 2 เมตรขึ้นไป และที่สำคัญผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้สั่งกำชับให้ทุกคนต้องคอยสอดส่องดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ หากการทำงานจะต้องไปส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ก็ขอให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย และในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะ ยังได้ลงเรือดูแนวคลองภาษีเจริญอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างก็ได้เตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดีแล้ว ส่วนระดับน้ำยังไม่สูงมากนัก แม้ว่าจะมีการผันน้ำจากคลองทวีวัฒนาลงมาแล้วก็ตาม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคน อย่าได้นิ่งนอนใจ ขอให้เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยขณะนี้ก็ขอให้เก็บของขึ้นสู่ที่สูงก่อน และคอยฟังข่าวสารที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะแจ้งให้ท่านได้รับทราบต่อไป ที่สำคัญคือ อย่าตระหนกแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน
                                                                       


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น