ผู้สื่อข่าวรายงานจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 62 ว่า พล.ต.ท.ติณภัทร. ภุมรินทร์ ผบช.สกบ. , พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.ภ.7 ปฏิบัติราชการแทน รอง ผบช.สตม.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ พร้อม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. ได้นำคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ , ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) , ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาโครงการฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท Dermalog เยอรมัน ได้เดินทางมาตรวจสอบการติดตั้งและทดสอบระบบ Biometrics โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคล (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) ซึ่งขณะนี้ได้ทำการติดตั้งในสนามบิน 16 แห่งทั่วประเทศไปแล้วกว่า 70%
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบใหม่นี้จะต้องทำการติดตั้งและทดสอบระบบให้ครบทุกช่องตรวจของสนามบินทั้ง 16 แห่ง โดยในขณะนี้ได้มีการทดสอบระบบ Biometrics ในการตรวจสอบผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 5 แสนรายการ และอยู่ในช่วงการปรับปรุงให้ระบบมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าระบบเดิมที่ไม่ได้ใช้ Biometrics ก่อนที่จะดำเนินการติดตั้งระบบงาน เพื่อใช้งานจริงทุกช่องตรวจของด่านตรวจคนเข้าเมืองในการส่งมอบโครงการ ฯ
ระบบ Biometrics ใหม่นี้เป็นระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เช่นใบหน้า และลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบเดิมของการตรวจสอบบุคคลเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ที่ไม่มีการใช้อัตลักษณ์แต่ประการใด ปัญหาที่เกิดคือ การปลอมแปลงเอกสาร หรือหนังสือเดินทาง เพื่อการแฝงตัวของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ผู้ต้องหาหลบหนี ผู้ไม่หวังดี สามารถกระทำได้ไม่ยาก ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศไทย กระทบการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ และการท่องเที่ยว แต่ในระบบการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบโดยใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพถ่ายใบหน้า ด้วยระบบ Biometrics ได้มีการนำอัตลักษณ์ทางชีวภาพบุคคลมาใช้ในการยืนยันตัวตน และตรวจสอบบุคคลต้องห้าม (Blacklist) สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการพิสูจน์ตัวบุคคลและเป็นการยกระดับการตรวจคนเข้าเมืองเทียบเท่าระดับสากล เป็นการสร้างความประทับใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ระบบ Biometrics ที่นำมาใช้ในโครงการนี้เป็นของประเทศเยอรมันจากบริษัทใหญ่ซึ่งทางรัฐบาลเยอรมันถือหุ้น มีผลงานด้าน Biometrics มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และยังประสบความสำเร็จในการตรวจจับผู้ก่อการร้ายระดับต้น ๆ
รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 ระบบจะสามารถพร้อมใช้งานได้เต็มรูปแบบทั่วประเทศ โดยจะทำการติดตั้งระบบกว่า 2,000 เครื่อง ณ จุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารทั่วประเทศ ด่านบก ด่านทางน้ำ ท่าอากาศยาน เพื่อเป็นการคัดกรองบุคคล ลักษณะเด่นของระบบ คือ การยืนยันตัวบุคคลที่เข้ารับการตรวจ ป้องกันการใช้หนังสือเดินทางปลอม การเปลี่ยนชื่อ และในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งถือเป็นก้าวแรก ในการตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานสากลกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 5 ในอาเซียนที่นำระบบ Biometrics มาใช้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว นักลงทุน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น