pearleus

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม นัดถกสิทธิแรงงานประมงล่าสุด พบก้าวหน้าหลายด้าน-มีอุปสรรคอีกมากที่ต้องร่วมกันแก้

ตัวแทนภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิแรงงานประมงในไทยล่าสุด พบมีทั้งความก้าวหน้าและความท้าทาย โดยเห็นตรงกันว่าโครงการริเริ่มต่างๆ ต้องเป็นรูปธรรมและวัดผลได้จริง โดยปัจจัยสำคัญคือการมีกลไกที่สร้างความร่วม แลกเปลี่ยนและช่วยตรวจวัดผลองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทยร่วมกับหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศและศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน‘Human of Seafood: ทางออกและความท้าทายของผู้คนบนเส้นทางอาหารทะเล’ เสวนาแลกเปลี่ยนความคืบหน้าการปฎิบัติงาน นโยบายและแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานล่าสุด ลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานบังคับ และเพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม ซึ่งมีการพูดถึงทั้งความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรค ไปจนถึงแนวทางปรับปรุงและพัฒนาร่วมกันในอนาคต โดยมี นางสาวสุนทรี แรงกุศล  ผู้อำนวยการองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย เป็นประธานเปิดเวทีเสาวนา

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความก้าวหน้าล่าสุดว่าปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนได้ดำเนินการส่งเสริมกลไกคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน (คกส.) โดยมีระบบการสรรหาตัวแทนแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานในกฎหมายไทยและอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยในปีนี้จะขยายเพิ่มอีกสี่โรงงานจากหนึ่งโรงที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้ในมาตรา 96 ให้นายจ้างของสถาน
ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวเสริมว่าหวังว่าการจัดตั้ง คกส. ที่สามารถทำงานได้จริงจะขยายไปมากกว่าในปัจจุบันและการขยายไปทะเงอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ควรผลักดัน ทั้งนี้ คกส. ที่ทำงานได้จริงนั้นควรมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอและมีผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมประชุม รวมทั้งผู้แทนตามสัดส่วนแรงงานที่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และสิทธิตามกลไกนี้

นอกจากเรื่องการคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการแล้ว งานวิจัยล่าสุดยังระบุว่าการที่แรงงานไม่รู้สิทธิพื้นฐานและเงื่อนไขการจ้างงานของตัวเองเป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง โดยงานวิจัย ‘ชีวิตติดร่างแห’ของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานประมงเพียง 42% บอกว่าไม่มีใครอธิบายเงื่อนไขการทำงานให้ฟัง  และเพียง 43 % จำได้ว่าตัวเองเคยเซ็นสัญญาจ้าง และมากถึง 95% ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับหนังสือสัญญาจ้างแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดว่านายจ้างต้องมีให้ก็ตาม

นางสาวมนัสนันท์ พรหมกิตติโชติ ผู้จัดการส่วนสรรหาบุคลากรและแรงงานสัมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)โรงงานผลิตและส่งออกกุ้งแช่แข็งที่มีแรงงานกว่า 3,000 คน ได้เสนอแนวทางปรับปรุงด้านนี้ที่อาจเป็นตัวอย่างที่บริษัทอื่นๆที่สามารถนำไปทำตามได้ โดยทางซีเฟรชอินดัสตรีใช้วิธีการจัดข้อมูลต่างๆ ให้แรงงานในประเทศต้นทางทราบก่อนที่จะตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงาน เช่น เรื่องชั่วโมงการทำงาน ประเภทของงาน เงื่อนไขการทำงาน ในภาษาที่แรงงานเข้าใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาหลังจ้างงานแล้ว ยังส่งผลดีในเชิงธุรกิจต่อตัวนายจ้างเองด้วย

“ในแง่ของนายจ้างเองก็ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะถ้าเราได้คนที่ใช่มาทำงาน มันก็จะส่งผลให้เขาทำงานได้ดี เขาอยู่กับเราแล้วเขารู้สึกปลอดภัย เขามั่นใจ ไม่รู้สึกผิดหวังเหมือนคาดหวังมาอีกอย่างหนึ่งแล้วผิดหวัง เพราะฉะนั้น ถ้ามันถูกตั้งแต่กระบวนการสรรหาตั้งแต่ต้น มันก็จะส่งผลดีมาเรื่อยๆ จนสุดท้าย อัตราการลาออกของพนักงานก็จะต่ำลงด้วย บริษัทเองก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานเพิ่มเติมหรือการพัฒนาทักษะพนักงานใหม่” ตัวแทนจากซีเฟรชอินดัสตรีกล่าว

ด้านนายปภพ เสียมหาญ จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ยืนยันเช่นกันว่าแรงงานควรรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับงานและสิทธิของตนเองก่อนเข้าทำงาน โดยนอกจากการให้ข้อมูลแรงงานก่อนรับเช้าทำงานแล้ว ควรจะต้องมีการประกันว่าสภาพการทำงานและเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปตามสัญญาจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งรัฐและเอกชนควรจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เวทีเสวนาเห็นตรงกันว่าการทำงานของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐด้วย โดยนาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศูนย์การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ยืนยันว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคประมง และมีพัฒนาการขึ้นจากปี 2558 ที่เปรียบเหมือนฝันร้ายของภาคประมงไทย ปัจจุบัน มีการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า–ออกเรือประมง (PIPO) มีการสัมภาษณ์แรงงานว่าถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ มีฐานข้อมูลแรงงานประมาณ 100,000 คน ซึ่งจากการสกรีนไม่มีการรายงานการละเมิดสิทธิ มีระบบติดตามเรือและประเมินพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าตรวจสอบ

นาวาเอกดรณ์ ยอมรับด้วยว่าความท้าทายของภาครัฐคือจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนเรือเข้าออกปีละกว่า 200,000 เที่ยว ทำให้ตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง ต้องใช้วิธีการเลือกตรวจสอบเรือที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษแทน ขณะที่แรงงานเองก็อาจจะเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐน้อยกว่าภาคประชาสังคม ทำให้หลายครั้ง กระบวนการตรวจสอบของภาครัฐไม่ได้ข้อมูลเท่ากับภาคประชาสังคม

ด้าน ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดท้ายว่าการพูดคุยระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมถือเป็นการริเริ่มที่ดี สิ่งที่ควรมีการพูดคุยกันในอนาคตมากขึ้นก็คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย การมีให้แรงจูงใจร่วม และสร้างการมีส่วนร่วมของฝ่ายอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงตัวแรงงานเองและทั้งผู้บริโภค
ด้วย นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังเห็นร่วมกันถึงความสำคัญของบทบาทผู้ซื้อต่างประเทศในการร่วมกันแก้ไขปัญหาในประเทศไทย  และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างยั่งยืน.


*******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น