ศาลยุติธรรมและกรมการปกครอง
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ประสานความร่วมมือให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสอดส่องกำกับดูแลพฤติกรรมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว...
#หลักคิด
เป็นที่ทราบกันดีว่า กรมการปกครอง ได้ยึดถือหลัก “บำบัดทุกข์
บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด
และเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย
ในฐานะประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนยากจนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราว
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง
#เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ณ
ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
สำนักงานศาลยุติธรรม โดย นายสราวุธ
เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดย
ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต
อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายปกครอง
(กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม
#วิธีการ คือ
การปล่อยชั่วคราวที่ไม่ต้องใช้เงินหรือทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ประกัน
แต่ให้อิงข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิชาการแทน ซึ่งระบบใหม่นี้
ศาลจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากฐานข้อมูลและบุคคลอ้างอิงที่เชื่อถือได้
โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องที่ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรืออยู่อาศัยจริง
จะทราบความเป็นไปกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นลูกบ้านดี ทั้งยังเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ
#ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ มาตรา 27 (1) (3) (11) แห่ง
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ประกอบมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล
พ.ศ. 2560
#บทบาทของฝ่ายปกครอง
(กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีหน้าที่ ดังนี้
1. ให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน
#ช่วยยืนยันข้อมูล
เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ขอปล่อยชั่วคราวในโครงการประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม
2. ให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน
#ช่วยกำกับดูแล
ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวตามโครงการประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม
3. ให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน
#ช่วยเป็นผู้รับรายงานตัวตามกำหนดนัดของศาล
กรณีผู้ต้องหา/จำเลย อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลที่ทำการศาลมาก
และยากจนเกินกว่าจะเสียค่าพาหนะมาศาลได้
ทั้งนี้
ในการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลยุติธรรม
ซึ่งกรมการปกครองจะได้ประสานการปฏิบัติไปสู่จังหวัด อำเภอต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่าย
จากสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้วยครับ
********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น