เมื่อเวลา 13.30น.ของวันที่ 11 ตุลาคม 2564 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้เป็นประธานในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยตลาดร้อยปี บ้านแพ้ว ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมเทพกาญจนา ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอบ้านแพ้ว โดยมีนายวัฒนา สาครหัวหน้าปัองกันภัยจังหวัดสมุทรสาครกล่าวรายงาน เหตุการณ์อัคคีภัยตลาดร้อยปีได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.55 น. ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายและมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลายครัวเรือน ซึ่งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดสมุทรสาคร (ก.ช.ภ.จ.) ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ข้อ 5.1 ด้านการดำรงชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,493,900 บาท ตามรายละเอียด ดังนี้ 1. ช่วยเหลือกรณีที่อยู่อาศัยประจำของผู้ประสบภัยพิบัติ จำนวน 19 หลัง เป็นเงิน 1,436,900 บาท 2. ช่วยเหลือร้านค้า/แผงลอย กรณีค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลัก จำนวน 5 ราย เป็นเงิน 57,000 บาท ประกอบด้วยประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละ 3,800 บาท จำนวน 18 ครอบครัว เป็นเงิน 68,400 บาท 2) ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริง เสียหายทั้งหลังและบางส่วน จำนวน 19 หลัง หลังละ 49,500 บาท เป็นเงิน 940,500 บาท 3) ค่าเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 69 ราย รายละ 1,100 บาท เป็นเงิน 75,900 บาท 4) ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลัก - กรณีบ้านพัก/ที่อยู่อาศัยประจำ ประกอบอาชีพหลักค้าขาย จำนวน 19 ครอบครัว ครอบครัวละ 11,400 บาท เป็นเงิน 216,600 บาท - กรณีร้านค้า/แผงลอย จำนวน 5 ครอบครัว ครอบครัวละ 11,400 บาท เป็นเงิน 57,000 บาท 5) ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร จำนวน 19 ครอบครัว ครอบครัวละ 3,500 บาท เป็นเงิน 66,500 บาท 6) ค่าเครื่องนอน จำนวน 69 ราย คนละ 1,000 บาท เป็นเงิน 69,000 บาท หลังจากได้มอบเงินช่วยเหลือแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครยังได้เข้าไปดูสภาพพื้นที่ที่ไฟไหม้ และได้พูดคุยเพื่อวางแนวทางซึ่งเรื่องแรกคือได้เน้นย้ำให้ทางนายอำเภอ ทางท้องถิ่น ต้องตรวจสอบสภาพสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และฝากให้ชาวบ้านได้ช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา หากพบไฟฟ้าลัดวงจร มีกระแสไฟรั่ว ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ต้องมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งตนเองนั้นไม่อยากให้เกิดเหตุขึ้นเพราะจะสร้างความเสียหายไม่น้อย ส่วนแผนการบูรณะปรับปรุงนั้น ต้องมีการประชุมหารือเรื่องการจัดระเบียบควบคู่กันไป เพราะตลาดบ้านแพ้วนั้นมีทั้งพื้นที่ที่เป็นของเอกชน และพื้นที่ที่ลุกล้ำเข้าเขตชลประทาน ซึ่งการจะปรับปรุงนั้นจะต้องจัดระเบียบให้อยู่ตามกฎเกณฑ์ไปด้วยกันในครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มจากจุดที่ประสบเหตุก่อน ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้โดนไฟไหม้ ก็ต้องมีการหารือ พูดคุยกับเจ้าของร้านทุกหลังในเรื่องการจัดระเบียบไปด้วย ซึ่งต้องค่อยๆทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตลาดร้อยปีบ้านแพ้วได้ฟื้นฟูอีกครั้งหลังไฟไหม้ และอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ถูกต้อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น