สืบเนื่องจากกลุ่มธุรกิจ SME จิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง การละเมิดและเลียนแบบเครื่องหมายการค้า “Safe” ซึ่งประกอบธุรกิจทำและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากไฟเบอร์กลาสและพลาสติกชนิดต่าง ๆ อาทิ ถังน้ำไฟเบอร์กลาส แผ่นไฟเบอร์กลาส โมลล์ไฟเบอร์ ฯลฯ พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้กระทำการละเมิดทั้งหมดเครื่องหมายการค้า ที่สร้างความเสียหายให้กว่า 1,000 ล้าน
ทั้งนี้หนึ่งในบริษัทที่ถูกกลุ่มธุรกิจ SME จิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย ดำเนินคดี ก็คือ บริษัท ปรีชา การช่าง เวนติเลเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
ซึ่งถูกระบุว่ามีเครื่องหมาย คล้ายหรือเลียนแบบ อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นายปรีชา ทองยิ่ง ผู้บริหารบริษัท ปรีชา การช่าง เวนติเลเตอร์ จำกัด จึงได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ เครื่องหมายการค้า “Safe” ที่กำลังเป็นคดีความอยู่ขณะนี้ โดยนายปรีชา ได้กล่าวถึงความเป็นมาแต่ต้นว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองกับจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย เคยทำธุรกิจร่วมกัน โดยใช้โลโก้ Safe ที่มีลูกโลกอยู่ด้านหลังตัวอักษร Safe เป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้ขออนุญาติอย่างถูกต้องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จดทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2557 หากแต่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันทั้งหมด” นั้นก็หมายความว่า คำว่า ไม่สามารถนำคำว่า Safe มาจดเป็นลิขสิทธิ์ส่วนตัวได้ เนื่องจากเป็นคำสามัญทั่วไปที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่ที่กรมทรัพย์สิน ฯ อนุญาตนั้นก็เป็นเพียงแค่รูปแบบเท่านั้น
ต่อมาตนเองได้แยกตัวออกจากการร่วมงานกับบริษัทจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย แต่ยังคงใช้เครื่องหมายการค้า Safe ที่มีลูกโลก พร้อม ๆ กับทำเรื่องขออนุญาติโลโก้ใหม่ที่มีชื่อ Safe เช่นกัน แต่มีสัญลักษณ์เป็นลูกหมุนระบายอากาศอยู่ด้านหน้าตัวอักษร Safe เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหน้า ในขณะที่บริษัท จิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย เองก็ยังคงใช้เครื่องหมายการค้า Safe ที่มีลูกโลกเช่นกัน
“ผมทำเรื่องขออนุญาติใช้ โลโก้ใหม่เมื่อปี 2561 ตามระเบียบของกรมทรัพย์ทางปัญญาทุกประการอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็มีการแก้แบบตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ แต่ก็ยังไม่ผ่านการอนุญาติให้ใช้งานได้ แต่ผมก็ไม่ละความพยายามน่ะ และที่ยังคงใช้ตัวอักษรคำว่า Safe เพราะเห็นว่าเป็นโลโก้ที่ติดตลาด เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคที่มั่นใจในคุณภาพสินค้าของบริษัท” นายปรีชากล่าว
นายปรีชาได้แสดงเอกสารถึงเหตุผลที่นายทะเบียนประจำสำนักงานเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญหา ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวใหม่ของตนว่า
เพราะอักษรโรมันคำว่า Safe แปลว่า ปลอดภัย มั่นคง เมื่อนำมาใช้กับสินค้าที่ยื่นของจดทะเบียน อาจสื่อความหมายได้ว่าเป็นสินค้าถังเก็บน้ำซึ่งไม่ได้ทำด้วยโลหะที่ใช้แล้วปลอดภัย นับว่าเล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ส่วนรูปประดิษฐ์มีขนาดและสัดส่วนที่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย
อย่างไรก็ตามระหว่างที่นายปรีชากำลังดำเนินเรื่องขออนุญาติใช้โลโก้ใหม่อยู่นั้น ก็ปรากฏว่า ทางบริษัทจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย ก็ได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้โลโก้ใหม่เช่นกัน โดยมีคำว่า Safe อยู่ในวงรี ซึ่งก็ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา สร้างสงสัยเคลือบแคลงให้กับนายปรีชา ถึงมาตรฐานของกรมทรัพย์สิน ฯ ว่า ทำไมถึงมี 2 มาตรฐานเกิดขึ้น
“เรื่องนี้ผมงงมาก เพราะก่อนหน้าที่กรมทรัพย์สินเคยบอกว่า คำว่า Safe จดไม่ได้ เพราะเป็นคำกลางสามัญ ใครจะนำมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ แต่ทำไม ทางบริษัท จิตต์ไฟเบอร์ ฯ ถึงจดได้เฉยเลย ทั้ง ๆ ที่มีคำว่า Safe เปล่า ๆ แต่ Safe ลูกหมุนของผมกลับไม่ได้อนุมัติ ทั้ง ๆ ที่ยื่นขอจดก่อน ตรงนี้แหละครับที่ผมสงสัย และอยากได้เหตุผลจากทางสำนักทรัพย์สิน ฯ” นายปรีชากล่าว
ทั้งนี้ภายหลังจากที่ บริษัทจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย ได้รับอนุมัติให้ใช้โลโก้ Safe แล้ว นายปรีชา ก็ได้ทำเรื่องขอทราบเหตุผลในการอนุมัติ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ทำอักษรลักษณะเดียวกัน แต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติ อีกทั้งทางบริษัทจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย ก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ ที่มีคำว่า Safe เรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งในส่วนของบริษัทของนายปรีชา ก็ถูกฟ้องทั้งทางอาญาและแพ่งเป็นหลายร้อยล้านบาทด้วยเช่นกัน
คุณปรีชาได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการได้รับอนุมัติโลโก้ Safe ของบริษัทจิตต์ไฟเบอร์กลาสซัพพลาย รวมถึงการฟ้องร้องบริษัทที่ใช้โลโก้ Safe ลูกโลก ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้องไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทำได้หรือไม่
ทั้งนี้ตนเองไม่มีเจตนาจะมีปัญหากับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากแต่ต้องการรู้เหตุผลจากการอนุมัติโลโก้ในครั้งนี้ ต้องการทำถูกให้เป็นถูก ไม่ต้องการใส่ร้ายใคร เพื่อความชัดเจนและใช้เป็นแนวทางปฎิบัติต่อไปเท่านั้นเอง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น