จับเข่าคุย อำนาจ กาละกูล
ถึงเวลา ‘รักท่าทราย’เปลี่ยนแปลงได้ ..ก่อนจะสายไป
ต.ท่าทราย จ.สมุทรสาคร ถือเป็นตำบลดังระดับชาติ ที่มีเกียรติศักดิ์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ศูนย์กลางโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ของจ.สมุทรสาคร ซึ่งก็หมายถึงการจัดเก็บรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ ที่เป็นเม็ดเงินมหาศาล ไล่รวมไปถึงแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิท – 19 ที่ขยายวงกว้างไปจนกระทบกระเทือนไปทั้งประเทศ
ที่ผ่านมา ต.ท่าทราย มีพัฒนาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านผู้บริหารมากหน้าหลายตา ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งคนรักและคนชัง ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็จะมีการเลือกตั้งผู้บริหาร หลังจากที่ประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมาเกือบ 7 ปี
ทีมงานชี้ชัดเจาะลึกได้มีโอกาส จับเข่าคุยกับ นายอำนาจ กาละกูล สมาชิกสภาอบต.ท่าทราย หมู่ที่ 6 ซึ่งทราบมาว่ากำลังตระเตรียมทีมงาน เพื่ออาสามารับใช้พี่น้องชาวต.ท่าทราย ในฐานะผู้บริหาร หลังจากที่เล่นบทสมาชิกสภามานานพอสมควร
การจับเข่าคุยครั้งนี้มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ที่ทีมงานชี้ชัดเจาะลึกอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนถ้าใครจะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงคะแนน อันนี้ก็แล้วแต่จะพิจารณากันเอาเองครับ
………………………………………….
ทีมงานชี้ชัดเจาะลึก เข้าจับเข่าพูดคุยกับนายอำนาจ กาละกูล ในช่วงสายวันหนึ่ง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุปลายเดือนมีนาคม ซึ่งร้อนพอ ๆ กับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอบต.ท่าทรายแห่งนี้
‘ผมดำรงตำแหน่งสมาชิกอบต.แห่งนี้เข้าปีที่ 9 แล้ว ผ่านนายก ฯ อบต.มา 2 คน’
นายอำนาจ ตอบคำถามแรกที่เรายิงเข้าไป
หลังจากนั้นจึงได้ทราบว่านายอำนาจ จบจาก โรงเรียนวัดป้อมวิเชียรโชติการามต่อด้วยโรงเรียนศึกษานารีวิทยาและจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประสบการณ์กว่า 9 ปีในฐานะสมาชิกสภาอบต.ท่าทราย ซึ่งมีหน้าที่กั่นกรองกฎหมาย พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติ การใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร รวมถึงเป็นปากเป็นเสียง นำเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนและร้องเรียนมา เพื่อมารายงานให้ที่ประชุมสภาทราบ ก่อนที่จะให้ผู้บริหารรับเรื่องไปดำเนินการแก้ไข
ต่อคำถามว่า โดยส่วนตัว มีงานไหนที่ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ท่าทราย นายอำนาจตอบว่า น่าจะเป็นโครงการ ENGLISH CAMP ที่นำเอาผู้เชียวชาญด้านภาษาอังกฤษ มาสอนให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ท่าทราย ในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด โดยผู้ปกครองไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเรียนที่ตึกอบต.ท่าทรายหลังใหม่ แต่ทำอยู่ 2 ปี ก็ไม่ได้ทำต่อ เนื่องจากติดปัญหาบางประการ แต่บอกไว้เลยครับว่า ถ้ามีโอกาส ก็จะสานต่อแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่จะมีภาษาคอมพิวเตอร์ด้วย
“ผมคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กเข้าถึงการได้รับบริการจากท้องถิ่นอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ผู้ปกครองในพื้นที่ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย หลายคนเป็นลูกจ้างในโรงงาน ที่ไม่มีเงินมากพอที่จะให้ลูกหลานได้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีค่าคอร์สแพง โครงการนี้จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และมีประโยชน์อย่างมากสำหรับอนาคตของบุตรหลานทั้งหลาย” นายอำนาจกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการที่หมายมั่นปันมือจะถูกพับไป แต่นายอำนาจ ก็เดินหน้าพัฒนาต.ท่าทรายต่อ ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย ซึ่งการเป็นสมาชิกสภา ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง หากแต่ยังไม่เพียงพอต่อความตั้งใจของนายอำนาจที่ต้องการลงละเอียด รวมถึงลงมือทำด้วยตนเอง มากกว่าจะเป็นแค่สมาชิกที่มีอำนาจแค่กลั่นกรองกฎระเบียบต่าง ๆ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิด เปลี่ยนเวทีเล่น จากสมาชิก มาเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารภายใต้กลุ่มที่จัดตั้งใหม่ชื่อ ทีมคนรักท่าทราย สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ โดยนายอำนาจเองจะอาสาลงมาทำหน้าที่ในฐานะรองนายกอบต.ท่าทราย
“ทีมคนรักท่าทราย วางแนวการทำงานว่า จะประสานการพัฒนาท่าทรายกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ท่าทรายเป็นเมืองน่าอยู่ สามารตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การมีส่วนร่วมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาท่าทรายเลยทีเดียว
นายอำนาจกล่าวเสริมว่า แนวการทำงานของทีมคนรักท่าทราย จะทำงานภายใต้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวชี้นำ ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดและเข้าใจผิดได้มาก
สำหรับปัญหาเร่งด่วนในต.ท่าทราย ในมุมมองของนายอำนาจเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า ปัญหาขยะต่าง ๆ ทั้งในซอกซอยหรือในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเยอะมา และไม่ได้มีการจัดเก็บอย่างทันท่วงที ทำให้สร้างปัญหา เป็นแหล่งเพาะของเชื้อโรค
ทั้งนี้นายอำนาจเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขยะในต.ท่าทรายว่า ต้องวางแผนตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการให้องค์ความรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกวัยทุกเพศ ทั้งในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงงานอุตสาหกรรม แม้กระทั่งวัด ทั้งการทิ้ง การคัดแยกขยะ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ และทำอย่างต่อเนื่อง
“ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ถังขยะเปียก หลายที่ทำกันได้ผลเป็นอย่างมาก เค้าทำโดยการฝังถังขยะลงไปในดินตามโคนต้นไม้ พอถึง 3 เดือน เค้าก็เอาฟางดินไปกลบ ที่นี้มันก็กลายเป็นปุ๋ย ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แล้วก็ลดปริมาณขยะด้วย” นายอำนาจกล่าว
นายอำนาจได้ย้ำถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ ต.ท่าทรายว่า ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง อสม. รพ.สต. ภาคราชการ เอกชน ประชาชน จริง ๆ แล้วเป้าหมายคือ อยากให้ต.ท่าทราย เป็นตำบลแห่งการเรียนรู้ โดยการที่เอาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาบริหารจัดการ
เมื่อทีมงานถามถึงปริมาณรถจัดเก็บขยะของอบต.ท่าทราย มีปริมาณเพียงพอสำหรับการจัดเก็บขยะหรือไม่ นายอำนาจได้ให้ความเห็นว่าอย่างน่าคิดว่า หากตราบใดที่พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนที่อยู่ในท่าทรายไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว ยังเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน การเพิ่มปริมาณรถเก็บขยะแค่ไหนก็ไม่เพียงพออย่างแน่นอน
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ที่ รวมถึง ต.ท่าทรายด้วยก็คือ ผู้สูงวัย ที่ยังมีปัญหาอีกมากที่ไม่ได้รับการแก้ไข หลายคนถูกมองว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทั้ง ๆ ที่ความจริง ไม่ได้เป็น แต่เพราะไม่มีใครรับฟังแกสักเท่าไหร่ เนื่องจากลูกหลานก็ต้องไปทำมาหากิน การดูแลก็จะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องมีการจัดหาสถานที่เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้
“เรื่องนี้ผมเคยพูดในสภา นำเสนอถึงปัญหา ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหา โดยขออนุมัติจากสภา สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อสุขภาพผู้สูงวัย ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันโครงการนี้ได้ตกไปแล้ว ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหาร ผมจะนำโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน” นายอำนาจกล่าว
นายอำนาจได้ขยายความถึงศูนย์เรียนรู้เพื่อสุขภาพผู้สูงวัย หรือ ที่เรียกว่า โรงเรียนดอกลำดวน ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ในเรื่องสิทธิที่พึงได้รับ การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ การสันทนาการเรื่องสุขภาพ ให้มาได้พบปะ เรียนรู้ทำกิจกรรมร่วมกัน กับคนในวัยเดียวกัน ทำให้มีจิตใจที่แจ่มใส่เบิกบาน
ในช่วงท้ายของการสนทนา ก่อนลาจากกัน นายอำนาจได้ฝากถึงแนวทางการดำเนินงานทางการเมืองของ ‘ทีมคนรักท่าทราย’ ว่า หลาย ๆ นโยบายที่นำเสนอ ล้วนตกผลึกมาแล้วทั้งสิ้น รอเพียงการนำออกมาปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม จึงอยากจะฝากถึงพี่น้องในต.ท่าทรายว่า ตนเองและทีมงาน พร้อมอาสาเข้ามาดูแลต.ท่าทราย ที่นับวันจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ อยากจะเข้ามาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้ท่าทราย เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ๆ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น