pearleus

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อพท.เดินสายอบรม 9 เขต หลักสูตร"ท่องเที่ยวยั่งยืน"เพื่อชุมชน

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.61 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เดินสายอบรม "หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน" ครอบคลุม 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว ที่จ.อุบลราชธานี โดยเชิญชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการอพท.  เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ที่ อพท. ได้จัดทำขึ้น และมอบให้ อพท. นำไปใช้เผยแพร่ ดังนั้นจึงได้กำหนดจัด กิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนตาม "หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน  เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ"  (Certificate  in  CBT  Integrated) ในรูปแบบการอบรมให้ความรู้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ครั้ง แบ่งเป็น 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) และอีก 1 พื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวคุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

โดยการอบรมที่อุบลราชธานี นี้ เป็นครั้งที่ 5  ซึ่งทุกๆครั้ง อพท. จะเชิญชุมชน และตัวแทนจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ มาร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้เรื่องการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันทำภารกิจการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนในเป้าหมายเดียวกัน
"เราตั้งเป้าหมายตลอดโครงการว่ามีผู้ผ่านการอบรมรวม 500 คน โดยทุกคนจะได้รับความรู้ และ อพท. ยังได้เผยแพร่แนวทางและเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ภาคส่วน และ ภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้และร่วมติดตามประเมินผลการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวต่างๆ ต่อไปอีกด้วย
โดย อพท. ดำเนินงานในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) ภายใต้คณะกรรมการ นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่ง อพท. ยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เป้าหมายเพื่อให้ชุน และภาคีเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ ได้เข้าใจความหมายของการทำท่องเที่ยวโดยชุมชนว่าคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร รวมถึงเข้าใจแนวทางและเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนสามารถบูรณาการการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงจากการอบรม ไปใช้เป็นเครื่องมือขยายผลการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตัวเองได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีฐานทรัพยากรชุมชนที่น่าสนใจมากมายได้ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. กล่าวว่า หลักสูตร CBT Integrated  มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและทักษะของการเป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงชุมชนและองค์กรชุมชน ที่ต้องเข้าใจว่าผลลัพธ์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนคืออะไร ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการพัฒนาชุมชน การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว การคิดเชิงการตลาดที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง การออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยว และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้ อพท. พัฒนาขึ้นจากการถอดบทเรียนจากการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนของ อพท. มาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี
โดยมีการรวบรวมองค์ความรู้ กรณีศึกษา แนวทางปฏิบัติ และข้อควรระวังในการทำงานร่วมกับชุมชนในหลากหลายบริบท  ครอบคลุมตั้งแต่ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน การประเมินศักยภาพชุมชน ทักษะการเป็นนักพัฒนาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ความเข้าใจมุมมองทางการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ การออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามกิจกรรมการอบรมครั้งนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิด "เพราะทำท่องเที่ยว เก่งคนเดียวไม่ได้" อพท. จึงได้เชิญทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชน สถาบันการศึกษา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพื้นที่ บริษัทประชารัฐร่วมใจ หอการค้า สมาคมโรงแรม สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นต้น  มาเข้าร่วมการอบรม เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำความเชี่ยวชาญและความเก่งของตัวเองมาบูรณาการเติมเต็มซึ่งกัน ให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจและช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกัน
สำหรับชุมชนเขมราฐธานี มีความพิเศษคือเป็นการรวมกลุ่มของชุมชนใน 4 ตำบลที่เชื่อมโยงกัน มีการพัฒนาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีการใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นและแบ่งปันรายได้ร่วมกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของ อพท. ได้คะเนนการประเมินในระดับที่น่าพอใจ ชุมชนมีความพร้อม มีฐานทรัพยากรที่ดีมาก สิ่งที่ อพท. จะเข้าไปช่วยเสริม คือการให้ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน และความรู้เรื่องการตลาด การประเมินศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
พร้อมกันนี้ อทพ.นำสื่อฯลงพื้นที่ท่องเที่ยวของเขมราฐ โดยไกด์ชุมชนนำล่องเรือชมทัศนียภาพความงามของวิถีชุมชนสองฝั่งโขง แวะหาดทรายสูง ชมหว้าคู่อายุกว่าสองร้อยปี  ณ บ้านลาดเจริญ ,ถนนคนเดินชมบ้านเรือนและโรงแรมเก่าข้าวของเครื่องใช้และวิถีชีวิตดั้งเดิม ,ชมการจัดการขยะของชุมชนหนองวิไล ,ชมการทอผ้าพื้นเมืองของกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมืองและบ้านวงศ์ปัดสา

หลักสูตรการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน..และความยั่งยืน...

สำหรับหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ ( Certificate in CBT Integrated )นั้น ดร.ชูวิทย์  และนางสาววัชรี  ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงภารกิจของอพท.โดยดร.ชูวิทย์ บอกว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ที่ อพท. ได้จัดทำขึ้น และมอบให้ อพท. เผยแพร่จึงเป็นที่มาของหลักสูตรดังกล่าว โดยอบรมให้ความรู้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ครั้ง แบ่งเป็น  8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) และอีก 1 พื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวคุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ
พร้อมกันนั้นตอนนี้ทางอพท.กำลังนำเสนอการแก้ไขกฎหมายให้ก้าวเท้าออกไปจาก 6 พื้นที่พิเศษนั้นได้ ไปทำงานตามเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่เรียกกันว่า คลัสเตอร์ ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นฝ่ายเลขานุการอยู่ โดยพื้นที่พิเศษใหม่นี้ เขียนชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติประกาศ เพราะฉะนั้นประกาศที่ไหนก็หมายความที่นั้นเป็นพื้นที่ดำเนินงานของอพท. โดยอัตโนมัติ
ดังนั้นจึงต้องมีกลไกที่เรียกว่าประชารัฐขึ้นมา จะได้มีภาคเอกชน ซึ่งมีพลังในด้านของการทำ CSR เราก็ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดไปว่า น่าจะนำเสนอ บริษัทเอกชน เป็นเทรนด์ของ gift economy เศรษฐกิจของขวัญหรือเศรษฐกิจแห่งการให้ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนรายใหญ่ ๆ เช่น บ้านปู มิตรผล เอสซีจี ปตท. ที่ทำ CSR เดิมๆ เช่นปลูกป่าชายเลน หรือบริจาคสิ่งของจึงน่าจะแบ่งส่วนหนึ่งมาพัฒนาชุมชนผ่านรูปแบบของการท่องเที่ยว
รองผอ.อพท.กล่าวด้วยว่า ทางสภานิติบัญญํติแห่งชาติกำลังทบทวนพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายร่มอันใหญ่ที่ดูแลกิจการเรื่องของการท่องเที่ยวทั้งหมด มีหมวดหนึ่งว่าด้วยเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ท.ท.ช. ซึ่งที่ผ่านมาขาดตัวละครสำคัญอย่างอพท.ที่จะเข้านั่งเป็นกรรมการที่มีสิทธิมีเสียงเต็มรูปแบบ
"ประชุมทุกครั้งเขาเชิญเราไปเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ แต่เรากลับมีผลงานโดยเฉพาะด้านชุมชนเข้าไปนำเสนอบ่อยครั้ง  ด้วยความที่ตกผลึกผลงานในเรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน จนท.ท.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน  มีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน และอพท. เป็นเลขานุการ ผมว่าหากปรับปรุง พรบ.นี้แล้ว น่าจะถึงเวลาที่อพทเราจะ.เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้วย”
เมื่อถามถึงแผนงบประมาณในการดำเนินการ  ดร.ชูวิทย์  กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยประมาณ 35 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20 % ของ GDP ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นพระเอกในเศรษฐกิจ 3 ขา  คือ เกษตร อุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้วยซ้ำไป แต่เมื่อถามต่อไปว่า 2.7 ล้านล้านบาท ลงไปถึงฐานรากชุมชนเท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้ นี่คือมิติในเรื่องของ Non Economy 
สำหรับการทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน 6-7 ปีที่ผ่าน อพท.เข้าไปปลดล็อคเรื่องที่ว่านี้  2.7 ล้านล้านบาท อาจตกไปที่โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เอกชนบริหารจัดการ แต่ชุมชนจะอยู่ที่เท่าไหร่ อพท.จะพยายามตอบให้
"เพราะที่ผ่านมาตอบได้เฉพาะพื้นที่พิเศษ แต่จากนี้ไปภาพจะใหญ่ขึ้นเพราะครึ่งหนึ่งของประเทศคือ 38 จังหวัดของคลัสเตอร์ จะถูกตอบโดยการทำงาน โดยบริบทของเราอพท. ที่เราเรียกว่าการกระจายรายได้ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เพราะในแผนบูรณาการที่บอกว่าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬาและวัฒนธรรมไปเน้นเรื่องนั้นเกินไป ทำให้ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับน้อย จึงคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะสถาปนาแผนบูรณาการงบประมาณ จึงได้มีการเสนอไปยังสำนักงานอีกแผนหนึ่ง เรียกว่า แผนบูรณาการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะได้มีตะกร้าสำหรับงบประมาณเรื่อง CBT นี้อย่างชัดเจน"ดร.ชูวิทย์ กล่าวและว่าจะเหมือนแผนการท่องเที่ยวที่ไม่ได้มุ่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่มุ่งพัฒนาเรื่องของการอยู่ดีมีสุข  และความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เกิดความเสมอภาค พูดง่ายๆ คือ มิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จะมาลงที่ตะกร้านี้ ถ้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ไปอยู่ในเรื่องของแผนบูรณาการสร้างรายได้ อันนั้นเป็น mass tourism
อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณากันอยู่ซึ่งการคิดแผนบูรณาการขึ้นมานี้เป็นเรื่องใหญ่ และต้องผ่านกลไกหลายขั้นตอน เริ่มจากคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขึ้นไปหา ท.ท.ช.และเข้าสู่ครม.ไป เป็นหนทางที่จะต้องเดินไปจะเกิดความชัดเจน ซึ่ง รองผอ.อพท.ระบุว่า ในปีงบประมาณ2562 คงทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เข้าใจว่า กลางปี 62 จะมีงบประมาณส่วนหนึ่งเข้ามาทำได้ ถ้าแผนบูรณาการ CBT เกิดขึ้น แต่หวังระยะปี 63 ที่จะเป็นผลได้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะหลายภาคส่วนสนับสนุนแนวคิดว่าน่าจะมีตะกร้าหนึ่งขึ้นมาสำหรับดำเนินการเรื่องนี้
ดร.ชูวิทย์ กล่าวสำหรับอำเภอเขมราฐว่า เป็นตัวอย่างในการทำงานว่า 5 ด้าน 100 ข้อ ใน 5 จังหวัดจะเสริมการทำงานกันอย่างไร แน่นอนว่าชุมชนใดชุมชนหนึ่งไม่สามารถครองแชมป์ได้ทั้งหมดทั้ง 5 ด้าน อาจจะเป็นแชมด้านหนึ่ง เช่นเรื่องของวัฒนธรรม ชุมชนที่เป็นแชมป์เรื่องใดก็จะไปบอกต่อกับชุมชนอื่นว่า ทำอย่างไรถึงเป็นแชม จะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน 
ทั้งนี้่เกณฑ์จะไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด ผ่านหรือไม่ เป็นตัวเลขสมมติเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้รับประโยชน์คือแนวทางในการกลับไปปรับปรุงชุมชน โดยหาภาคีเครือข่ายมาช่วย ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่อพท.ไปทำ destination   โดยเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมี 3 มิติ ด้วยกัน เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติชุมชน (ที่อพท.ทำกันอยู่)  เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงของ Destination หรือแหล่งท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนของเอกชนดูแลเป็นโรงแรม และผู้ประกอบการท่องเที่ยว แบ่งเป็นสีในแต่ละหมวด สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว  อย่างสีเขียวเป็นแนวปฏิบัติที่ดีนำไปประกวดในระดับนานาชาติได้เลย
สีเหลืองค่อนข้างจะดีแต่มีประเด็นปรับปรุงบางส่วน สีส้มต้องปรับปรุงพอสมควร  สีแดงต้องปรับปรุงมากที่สุด เมื่อชุมชนนั้นตกอยู่ในหมวดไหน เขาจะได้ตั้งงบประมาณหรือหาคนมาช่วยเหลือจะได้รู้ว่า ตอนนี้เป็นสีแดงอยู่แต่ต้องการจะเป็นสีส้ม สีเหลืองเป็นลำดับต่อไป เราจึงขอรับการสนับสนุนในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นจะไม่ขอสเปะสะปะ แต่จะมีหลักคิดทางวิชาการเป็นระบบ ของบเฉพาะในสิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อน
ด้านนางสาววัชรี   กล่าวเสริมว่า อำเภอเขมราฐ มีความเข้มแข็งเป็นที่หนึ่งของจ.อุบล มีความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอีสาน มีถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ชมวิถี และมีหาดทรายสูงที่เขมราฐ ริมน้ำโขง จะเห็นภาพวิวทิวทัศน์ที่งดงาม และถนนคนเดินก็ติดตลาดพอสมควร การได้รับการรับเลือกมาเป็นชุมชนนำร่อง มาจาก 1.การบริหารจัดการ มีการรวมกลุ่มกันให้การบริการด้านการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งมีเขมราฐ เจียด นาแวง รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายในชุมชนท่องเที่ยว 2.ด้านการจัดการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ มีการพัฒนาของฝาก ของที่ระลึก การทำรายได้ มีระบบบัญชี รายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ด้านสังคมมีส่วนร่วมและมีรายได้อย่างโปร่งใสเป็นธรรม มีกฎกติการ่วมกันในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
3.ด้านอนุรักษ์ วิถีวัฒนธรรมความเป็นอีสาน การแต่งกาย การสืบค้นข้อมูล การถ่ายทอดเรื่องราว 4.ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีการจัดการให้หน้าบ้านหน้ามอง มีการจัดการความสวยงาม การดูแลขยะ  5.การบริการด้านความปลอดภัย ชุมชนเมื่อรวมกลุ่มกัน เขาพูดคุยกันจะบอกเลยว่า เป็นเจ้าบ้านที่ดีนั่นเอง ควรดูแลและการบริการ การเป็นหูเป็นตาให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
ดร.ชูวิทย์ กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากชุมชนว่า การที่จะเข้าไปทำงานในชุมชนที่ต้องพบกับผู้นำทางความคิด หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น การทำงานของอพท. คือ เราทำงานเป็น Time Serie ให้เขามุ่งหวังในระยะยาว และมั่นใจถึงการกลับมาทำงานร่วมกับเขาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการทำงานประสบกับปัญหาจากความคิดของผู้นำ แน่นอนทุกครั้งจะมีแรงต่อต้านเป็นอัตโนมัติของมนุษย์เป็นธรรมดา แต่จะเป็นในระยะแรก หากเราอาศัยภาคี เพื่อนร่วมทางที่เดินไปด้วยกัน จนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
"การทำงานของ อพท.ต้องอดทนมาก ช่วงแรก ๆ แน่นอน โดนศอก เข่า ตียับเลย ที่ไหนเข้าไปแล้วคลื่นลมสงบอันนั้นต้องระวังให้ดี เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับผมคิดว่าดีมาก อยากให้เขาแสดงออกมา จะได้ปรับจูนกัน เราก็น้อมรับ ไม่ใช่ถือตำราหรือความมั่นใจเข้าไปอย่างเดียว เพราะรู้ว่า ตำราของเราไม่ใช่ยาพาราเซตตามอล ที่จะไปรักษาในทุกพื้นถิ่น ต้องปรับให้เข้ากับชุมชนนั้น ๆ นิยาม ว่า ความเป็นเลิศของเขาและความเป็นเลิศของเราต่างกัน ดังนั้นกว่าจะหาจุดร่วมกันต้องใช้เวลา ต้องแนะนำตัว เอาเกณฑ์ไปใช้ "รองผอ.อพท.กล่าว พร้อมพูดถึงความพร้อมกับความเต็มใจว่า  มีหลายชุมชนที่ไม่เต็มใจ อพท. ก็ไม่เข้าไปก้าวล่วง ไม่ใช่ชุมชนในประเทศไทยจะต้องลุกขึ้นมาทำท่องเที่ยวทั้งหมด เขาอาจจะต้องการทำด้านเกษตร บางพื้นมีความเต็มใจมากที่จะให้ทำเป็นชุมชนท่องเที่ยว แต่เขาไม่พร้อม เราก็เข้าไปเสริม ก็ใช้เวลาแตกต่างกันไปกว่าจะได้รับการยอมรับ การทำงานต้องอาศัยภาคีเครือข่าย  หากเขายังไม่ตกผลึก เราก็ต้องใช้เวลา” 
นอกจากนี้ ดร.ชูวิทย์ ยังได้พูดในหัวข้อที่ชุมชนนำเสนอการท่องเที่ยว ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ   Hard กับ Soft  ว่า  Hard คือ ชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไรกับแหล่งท่องเที่ยวนั้น อพท.ก็เข้าไปเสริม ความรู้ให้ เพื่อประโยชน์จากการจัดการแหล่งท่องเที่ยว"ไม่ใช่ให้ทัวร์จีนเข้าไปจัดการ เข้ามายึดแล้ว จ่ายค่าบริการให้กับองค์การบริหารจัดการไปแล้วก็มานั่งเก็บค่าตั๋วดังที่เห็นๆกันอยู่"
ส่วน Soft คือ ชุมชนที่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่มีอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิต มีเรื่องอาหารการกิน มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ มีปรากฎการณ์ทางชุมชน การแสดง จะเห็นว่าจริตของแต่ละพื้นถิ่นจะแตกต่างกันไป ต้องออกแบบกิจกรรมให้กับชุมชนนั้นๆ "ที่พบมาบางชุมชนทำโฮมสเตย์ก่อน ซึ่งนั่นเราจะบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก สร้างขึ้นมาแต่ไม่มีกิจกรรมรองรับ เรื่องท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืน อพท.ก็ส่งเสริม แต่ก็ต้องตามมาด้วยกิจกรรมด้วย เพราะบางชุมชนสามารถท่องเที่ยวได้เพียง One Day Trip เท่านั้น ชุมชนไม่ต้องทำอะไรให้เกินตัว แต่ถ้าออกแบบมีกิจกรรมในตอนกลางคืน ก็จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวค้างคืน ณ ชุมชนนั้นๆ ได้ หรือแม้แต่เรื่องของ ไฟล์ทบิน ในการเดินทาง ซึ่งจะต้องคิดในหลายมิติ” ดร.ชูวิทย์ กล่าวและว่า อพท. มองเห็นจากประสบการณ์ ก็เตือนสติ บอกให้เขารู้ว่าเรื่องการท่องเที่ยวนี้เป็นรายได้เสริม เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปราะบาง  เจอเรื่องภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจตกต่ำ หรืออะไรเหล่านี้ ถ้าทุกคนทิ้งนาทิ้งไร่มาทำท่องเที่ยว 100 % จบเลย หลายชุมชนเจอสภาพแบบนี้แล้ว เมื่อจะกลับไปทำนาทำไร่ก็ขายไปหมดแล้ว ไม่สามารถกลับไปดำรงชีวิตแบบเดิมได้ 
พร้อมให้ข้อคิดว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน แตกต่างจากการทำการตลาดในแบบ Mass ต้องเป็นไปเพื่อความพอดีของชุมชนตนเอง ไม่ใช่ปรนเปรอนักท่องเที่ยวไปเสียหมด คุณค่าของชุมชนก็จะหายไป เสน่ห์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็จะขาดไปที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานพอเพียง ต้องยืนได้ด้วยตัวเองเป็นหลัก ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวต้องการหาประสบการณ์ที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร นั่นคือเสน่ห์ของชุมชน  ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่ม Gen Y กลุ่มผู้หญิงทำงานที่เที่ยวกันเป็นก๊วน  และสิ่งที่เราค้นพบคือตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปจะชื่นชอบมาก ในการเดินทางเข้ามาสัมผัสกับวิถีที่แท้จริง
ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของอพท. คือเรื่องความสุข ที่ต้องเกิดขึ้นโดยทั้งชุมชนและนักท่องเที่ยว จะก่อให้เกิดความยั่งยืน 


*****************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น