pearleus

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ระวังภัยโรค มือ เท้า ปาก

กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งมือป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดภายในรั้วโรงเรียน เนื่องจากโรคชนิดนี้พบมากในเด็กเล็กซึ่งมาอยู่รวมกันจำนวนมาก  จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 มิ.ย. พบผู้ป่วยกว่า 1 หมื่นราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 1 ขวบ พบมากถึง 31% รองลงมาคือ อายุ 2 ขวบ หรือ 25% และ 3 ขวบ เท่ากับ 17%  ดร.นายแพทย์อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกลุ่มระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี มียอดผู้ป่วยสะสม  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 มิถุนายน 2556  จำนวนทั้งสิ้น 752 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 15.05  ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต และยังพบผู้ป่วย เพศชาย มากกว่า เพศหญิง  กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 0 - 4  ปี จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น  676 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือน กุมภาพันธุ์ มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 196 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ จังหวัดสมุทรสาคร คิดเป็นอัตราป่วย 30.33  ต่อประชากรแสนคน สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โรคปากเท้าเปื่อยส่วนใหญ่เกิดจาการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจากEnterovirus 71 อาจเป็นแบบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ Aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบสมองอักเสบencephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมองทำให้หมดสติ หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะทำให้เกิดหัวใจวาย ความดันโลหิตจะต่ำ มีอาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด อาการของโรคมือเท้าปาก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง สำหรับผู้ที่มีอาการมักจะเริ่มด้วยไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวเจ็บคอ หลังจากไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็กๆที่ปากโดยเป็นตุ่มน้ำในระยะแรกและแตกเป็นแผล ตำแหน่งของแผลมักจะอยู่ที่เพดานปาก หลังจากนั้นอีก1-2 วันจะเกิดผื่นที่มือและเท้า แต่ก็อาจจะเกิดที่แขน และก้นได้ เด็กที่เจ็บปากมากอาจจะขาดน้ำ ระยะฝักตัวของโรคมือเท้าปาก หมายถึงระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการใช้เวลาประมาณ 4-6 วัน การติดต่อของโรคมือเท้าปาก โรคนี้มักจะติดต่อในสัปดาห์แรก เชื้อนี้ติดต่อจาก ระยะที่แพร่เชื้อของโรคมือเท้าปาก ประมาณอาทิตย์แรกของการเจ็บป่วย เชื้อนั้นอาจจะอยู่ในร่างกายได้เป็นสัปดาห์หลังจากอาการดีขึ้นแล้วซึ่งยังสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้แม้ว่าจะหายแล้ว การแพร่เชื้อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อออกมามาก เชื้อจะอยู่ในลำคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของคอหอยและลำไส้ เพิ่มจำนวนที่ทอนซิลและเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ และเชื้อจะออกมากับอุจจาระ ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า การแพร่กระจายของโรคเกิดจากแมลง น้ำ อาหาร หรือขยะ 
ดร.นายแพทย์อนุพงค์ สุจริยากุล กล่าวต่ออีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเป็นคู่มือคำแนะนำ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียน สำคัญที่สุดในเรื่องของการรณรงค์ให้สถานที่ต่างๆ การทำความสะอาด ยึดหลักของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี คือ กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบอาหาร และเด็กๆ ทุกคน ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องส้วม หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก และก่อนเตรียมอาหาร อย่างไรก็ตามหากมีอาการควรนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทรฟรีหมายเลข 1422
ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล กล่าวเพิ่มติมอีกว่า ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดของโรค มือ เท้า ปาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันระมัดระวัง รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้  สิ่งที่สำคัญ คือ ประชาชนต้องไม่ตระหนก แต่ ต้องตระหนัก และพร้อมใจกันในการให้ความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ไม่ให้เข้ามาระบาดในพื้นที่ของเรา ป้องกันได้โดยปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศอย่าเคร่งครัดแล้วบุตร หลานของทุกท่านจะปลอดภัยจาก โรคมือ เท้า ปาก

รายงานข่าวโดย วิจิตรา ฤทธิ์ประภา กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค   25 มิถุนายน 2556

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น