pearleus

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

นั่งสามล้อชมจุดเครื่องบินแลนดิ้ง ไปดูการทำ"ส้มควาย"ที่บ้านหัวควน


กิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP  เพื่อการท่องเที่ยว... โดยกรมการพัฒนาการชุมชน ในเส้นทางที่6 อันดามัน"สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต"  สัมผัสบรรยากาศท่องเที่ยววิถีชุมชน  วันที่ 26 ต.ค.61 ร่วมกิจกรรม หมู่บ้านไม้ขาว  อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต  นั่งสามล้อไปจุดชมเครื่องบินแลนดิ้ง ชมผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน กิจกรรมสปาทราย ชมการสาธิตวิธีจับจั๊กจั่นทะเล ชมการสาธิตการทำขนมปังบี่ไท่บัก ร่วมกิจกรรม ณ หมู่บ้านหัวควน รับชมวิดีทัศน์จากผู้นำชุมชน ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5  ร่วมกิจกรรมแปรรูปส้มควาย ชมการสาธิตการทำขนมพื้นบ้าน ขนมท่อนใต้ ขนมต้มยอดมะพร้าว การทำปาเต๊ะ 
 ทำผ้ามัดย้อม หัตกรรมพื้นบ้าน สาธิตการทำปลาดุกร้า



 ประวัติของหมู่บ้านไม้ขาว เล่าว่าเมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีก่อน ชาวบ้านเรือนที่อยู่ที่ตีนเขาเรียกว่า บ้านในซึ่งมีบ้านเรือนมากพอสมควร (ใกล้กับบ้านบ่อสอม ในปัจจุบัน) สมัยนั้นยังไม่มีการปลูกยางพาราและการปลูกสับปะรดแดง ต่อมาชาวบ้านเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น จึงเชื่อกันว่าสาเหตุที่เจ็บไข้นั้นเพราะเงาของภูเขามาบังทับบ้านเรือน จึงพากันย้ายมาอยู่บริเวณชายทะเลฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน เรียกว่าบ้านหัวนอน และ บ้านใต้ตีน พื้นที่มีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนจีนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว 5-6 ครัวเรือน หลังจากนั้นมีการขยายบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น และในป่าทึบดังกล่าวนี้เองมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง  มีลักษณะสีขาวโพลนทั้งต้น ชาวบ้านจึงตั้งซื้อหมู่บ้านนี้ หมู่บ้านไม้ขาว  เมื่อครั้งที่ยังไม่มีสะพานสารสิน เมื่อเรือวิ่งข้ามฝั่งเข้ามาจะมองเห็นต้นไม้สีขาวโดดเด่นมาก 
                   หมู่บ้านหัวควน ต.กมลา อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต  อีกหมู่บ้าน OTOP Village เพื่อการท่องเที่ยว อีกแห่งหนึ่งที่มีกลิ่นไอของความเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ เนื่องจากเส้นทางที่เดินทางมายังหมู่บ้านเป็นที่เชื่อมโยงระหว่างบ้านบางคูกับบ้านหัวควน จะต้องขึ้นเนินสูงมีลักษณะเป็นควน คำว่าควนในภาษาปักษ์ใต้หมายถึงเนิน ชันมาก จึงเรียกว่า บ้านหัวควน  มีต้นยางใหญ่ อยู่ตรงจุดหัวควน จึงเรียกว่า ควนต้นยาง  คนกลุ่มแรกที่เข้ามา คือ โต๊ะกอหมาด เป็นชาวไทยมุสลิม เดิมอาศัยที่เกาะปีนัง ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่ภูเก็ต ทิศเหนือติดหมู่ 5 บ้านเกาะแก้ว ทิศใต้ติดบ้านบางคู ทิศตะวันออกจดทะเลอันดามัน ทิศตะวันตกติดภูเขาเจ๊ะตา ภูมิประเทศเป็นสวนยาง
                ในปัจจุบันกลายเป็นถนนหนทางและที่พักอาศัย  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ทำสวน นับถือนับถือศาสนาอิสลาม ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยถิ่นใต้ มีหน่วยงานบำรุงทางแขวงการทางภูเก็ต โรงเรียนมุสลิมวิทยา  มีพื้นที่ใกล้เคียง ทิศเหนือมีภูเก็ตแฟนตาซี ทิศตะวันออกและใต้เป็นควนเขากมลา ทิศตะวันตกติดบ้านบางหวาน ภูมิประเทศในอดีตเป็นทุ่งนา เนินเขา สวนทุเรียนและสวนยางพารา









                กิจกรรมเด่น ชมการทำ   ส้มควาย ซึ่งเป็นผลไม้รสเปรี้ยว ตระกูลเดียวกับ   ส้มแขก เป็นพืชสมุนไพร พบได้แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้  โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวบ้านนิยมปลูกส้มควายเป็นไม้ผลประจำบ้าน  ต้นส้มควายภูเก็ต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือขนาดผลใหญ่เนื้อมาก ชาวบ้านนิยมนำมาปรุงอาหารสารพัดเมนู ทั้ง แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ  ต้มปลา
               ภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยโบราณ นำส้มควายมาตากแห้ง และบดเป็นผงก่อนนำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ลดอาการปวดเมื่อย อาการเท้าบวม และช่วยระงับกลิ่นเท้าได้เป็นอย่างดี  ยุคปัจจุบัน ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า  “ ส้มควาย   เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยในการระบาย และมีกรดผลไม้ ประเภทสาร AHA ช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส  จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง เพราะส้มควายเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย
               เชคอิน แชะ ชม ชิม ช้อป แชร์..ไป.แล้วจะ..รัก..สมความตั้งใจจริงๆ

**************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น