pearleus

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

คณะกรรมาธิการเกษตร วุฒิสภา ลงพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร



เมื่อเวลา 08.00 น.ของวันที่ 17 มกราคม 2563 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานติดตามการเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและเกษตรแปรรูป ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ณ พื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมีนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้การต้อนรับ ในการนี้คณะของประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ก็ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับ การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและแปรรูปมะพร้าว,โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น (กสก.) ,โครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการนำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการ ในการปฏิบัติราชการกับหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสมุทรสาคร
ทั้งนี้หลังจากที่รับฟังการบรรยายสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาพร้อมคณะ ก็ได้ออกเดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอบ้านแพ้ว (ศพก.) ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยรับฟังการดำเนินงานจากนายบุญลอย ทรัพย์มา ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และว่าที่ร้อยตรีพิทักษ์ พึ่งพเดช ประธานแปลงใหญ่ มะพร้าวน้ำหอมตำบลยกกระบัตร ที่นำเสนอการสร้างอัตลักษณ์สินค้าเกษตร (GI มะพร้าวน้ำหอม) และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมการจัดการผลผลิตมะพร้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า ที่บ้านของนายศุภกร จุลสวัสดิ์ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแพ้วฯ ก่อนที่จะรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 4 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านปัจจัยการผลิต ด้านสหกรณ์ และด้านการปฏิรูปประเทศ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาภาคเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ทำให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย โดยในห้วงที่ผ่านมาภาคการเกษตรของไทยมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากข้อจำกัด ด้านการใช้และการเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสม ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีทิศทางการพัฒนา เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกรในระยะ 20 ปี
สำหรับ แนวทางพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นนั้น ก็จะต้องมีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น,ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การขึ้นทะเบียนและคุ้มครองสิทธิ์ให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์, การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์,การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพัฒนาอัตลักษณ์พื้นถิ่น,การสร้างอัตลักษณ์หรือเรื่องราวแหล่งกำเนิด สร้างความแตกต่างและความโดดเด่น ตลอดจนประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวและบริการ,มีการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น,ส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในประเทศและเพื่อการส่งออก
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่าทิ้งท้ายว่า ในห้วงปี 2561 – 2565 ทางคณะกรรมาธิการฯ มีแนวทางการพัฒนาเกษตรแปรรูปด้วยการ ส่งเสริมการพัฒนาและใช้วัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ,ส่งเสริมการแปรรูปโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการแปรรูป สร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตร,สนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป เช่น บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ยืดอายุของอาหารและสินค้าเกษตรในบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า,ส่งเสริมการสร้างตราสินค้า และขยายช่องทางตลาดด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสร้างเครื่องหมายทางการค้า และการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการดูงานในครั้งนี้ก็จะนำปัญหาของพี่น้องชาวเกษตรกรบ้านแพ้วไปหาแนวทางในการแก้ไขและส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและเกษตรแปรรูปให้เข้าถึงฐานรากอย่างแท้จริง
ข้อมูล สนง. ปชส.จ.สค.











0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น