pearleus

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สุภาพ พ่วงเจริญ สารวัตรกำนัน ต.ท่าทราย ‘โฟม’ นำชีวิต ฝ่าวิกฤติ จนมีวันนี้



            ว่ากันถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นกับหลายชีวิตนั้น  เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผจญมาแล้ว  ไม่ว่าจะในอดีต หรือแม้กระทั้งในตอนนี้  ขึ้นชื่อว่าวิกฤติแล้ว คงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ  เบา ๆ เป็นแน่  หากแต่มักจะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ระดับตัดสินกันด้วยความเป็นความตายก็มี หรือที่เบาขึ้นมาหน่อย ก็คือ การอยู่รอดปลอดภัยในการทำมากิน ให้มีกินมีใช้ทั้งกับตัวเองและครอบครัว
            คนกล้าคนเก่ง ฉบับนี้ มีความภูมิใจจะนำเสนอ นักสู้ชีวิต ที่ผ่านวิกฤติมานานัปการ  ด้วยต้นทุนชีวิตไม่ได้มากมาย  เรียนจบแค่ป. 4 ซ้ำที่ทางหรือทุนรอนในยุคสร้างเนื้อสร้างตัว ก็ไม่มี  การเดินเข้าบริษัทห้างร้าน ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ โฟม  มาเป็นลูกจ้างระดับคนขับรถส่งของ จึงเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของเส้นทางชีวิตของคนที่เพิ่งแตกวัยหนุ่ม และด้วยความมานะบุกบัน หนักยิ่งเอา เบาก็สู้ ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เรียกรู้และดูแลหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างดี..  จนปัจจุบัน เค้าคนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจโฟมที่มีชื่อชั้นในวงการ มีลูกค้าเป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ หลายแบรนด์ที่ดังระดับชาติ   มารู้จักนักสู้ชีวิตท่านนี้กันดีกว่า กับ คุณสุภาพ พ่วงเจริญ กับตำแหน่งเจ้าของบริษัท SP โฟม และอีกตำแหน่งคือ สารวัตรกำนัน ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร
………………………………
            ทีมงานคนกล้าคนเก่ง รับนัดหมายกับ คุณสุภาพ พ่วงเจริญ และคุณประเทือง พ่วงเจริญ ภรรยา ที่บ้านย่านต.ท่าทราย ที่กันส่วนหนึ่งเป็นโรงงานตัดโฟมเพื่อจำหน่าย  ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้กับคุณสุภาพ และครอบครัวจนประสบความสำเร็จในขณะนี้
            ผมเป็นคนเรียนไม่สูงน่ะ จบแค่ป.4 บ้านอยู่ไกลโรงเรียนมาก ทางบ้านก็เลยเอาแค่นี้
            คุณสุภาพเปิดบทสนทนาด้วยความถ่อมเนื้อถือตัว เกี่ยวกับการศึกษาที่บอกว่าจบแค่ป. 4 แต่เมื่อดูจากสภาพบ้านและโรงงานก็ต้องยอมรับกันล่ะว่า ไม่ธรรมดาเลยสำหรับผู้ชายคนนี้ที่สร้างอาณาจักรของตนเอง จนเข้าขั้น ผู้มีอันจะกิน
คุณสุภาพเล่าให้เราฟังว่า จริงแล้วตนเองเป็นคนบ้านแพ้ว แต่ย้ายมาทำสวนพุทรากับครอบครับที่ต.ท่าทราย โดยเช่าเนื้อที่ 20 ไร่ ทำอยู่ได้ระยะหนึ่ง สภาพดินก็เริ่มไม่ดี มีน้ำเสียไหลเข้าพื้นที่ ส่งผลให้พุทราไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร จึงผันตัวเองไปเป็นลูกจ้างในโรงงานแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโฟม โดยมีหน้าที่เป็นคนขับรถส่งของ  จนเมื่อได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้าของบริษัท จึงได้รับหน้าที่ใหม่คือ เป็นเซลล์ ซึ่งก็ทำให้คุณสุภาพได้มีโอกาสเรียนรู้งานในธุรกิจโฟมมากยิ่งขึ้น ทั้งการหาแหล่งวัตถุดิบ การหาตลาด การขาย รวมไปถึงการขนส่ง  และเมื่อบริษัทเกิดปัญหา  คุณสุภาพจึงได้ลาออกมา และเริ่มตั้งธุรกิจโฟมเป็นของตนเอง
“จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้คิดจะออกมาทำเองหรอกครับ แต่โดนเค้าบีบออก อาจจะเพราะเงินเดือนมาก สมัยก่อนผมได้เดือนละ 30,000 บาทเชียวน่ะ ทางโน้นเค้าก็ให้พรรคพวกมาทำแทน และมาดีดเราออก งานการก็ไม่ใช้อะไรเราแล้ว ก็เลยตัดสินใจออกดีกว่า”
หลังจากตัดสินใจลาออกมาแล้ว คุณสุภาพ ก็อาศัยที่ตนเองมีฐานลูกค้าบางส่วนที่เคยติดต่อกัน จึงเริ่มคิดทำธุรกิจโฟมขึ้นมาเองทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงินทุนเลย แต่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกับคู่ค้า ทำการค้าแบบซื้อมาขายไป เริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ  อาศัยที่คนอื่น 100 กว่าตารางวา จนมาเป็นรูปเป็นร่างจดเป็น หจก.ชื่อว่า S&P FOAM  เมื่อปี 2540  
“พอมาทำเองก็ยากครับ เพราะเราไม่มีทุน  แม้อาศัยมีฐานลูกค้า แต่สมัยก่อนเค้าใช้เครดิตกัน บางที 30 วัน 60 วัน  ทางบริษัท ฯ ที่เราไปซื้อโฟมก็ไม่ให้เราเชื่อ เพราะบริษัท ฯ เก่าไปตามบี้เรา  แบงค์ก็กู้ไม่ได้ ที่ตั้งโรงงานเรายังต้องเช่าเลย ลำบากครับช่วงเริ่มต้น ยังเคยคิดเลิกกลับไปเป็นลูกจ้างเค้าดีกว่า ซึ่งบางครั้งก็ต้องไปหยิบยืมพ่อแม่ แต่ก็พอประคองตัวไปได้”
แม้การเริ่มต้นจะเป็นไปด้วยความลำบาก แต่เมื่อตัดสินใจที่จะออกลุยธุรกิจของตัวเอง  ด้วยความมุ่งมั่นและความซื่อสัตย์ที่มีต่อคู่ค้า ส่งผลให้ธุรกิจโฟม ภายใต้ชื่อ S&P FOAM  ของคุณสุภาพ และภรรยา เติบโตอย่างมั่นคง จนปัจจุบันมีพนักงานอยู่ 40 คน บนเนื้อที่ที่ตนเองเป็นเจ้าของอย่างภาคภูมิ
ปัจจุบัน S&P FOAM  ได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้าที่เป็นเบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง มีออร์เดอร์สั่งตัดโฟมตามขนาดที่ต้องการมากมาย  รวมไปถึงบริษัทห้างร้านที่รับโฟมจาก S&P FOAM  ไปแบ่งขาย  ซึ่งไม่ค่อยมีบริษัทโฟมที่ไหนจะรับออร์เดอร์นี้
“รายเล็กรายน้อยผมรับหมดครับ ที่ผมได้บริษัท ฯ ยักษ์ใหญ่ 5 แบรนด์ดังเป็นคู่ค้าน่ะ ก็เพราะเราไวกว่า เราเร่งงานให้เค้าได้  คุณภาพที่ได้ก็พอ ๆ กันครับ บางครั้งก็ต้องยอมขายขาดทุน เพื่ออนาคตข้างหน้า”
เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมาก และขยายธุรกิจเป็นลังโฟมใส่ผลไม้ ที่มีออร์เดอร์จากประเทศจีน เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับของคนในแวดวง รวมถึงวงสังคมในพื้นที่ต.ท่าทราย ที่คุณสุภาพเป็นที่รู้จัก มีคนนับหน้าถือตา ส่งผลให้มีนักการเมืองท้องถิ่น มาทาบทามให้คุณสุภาพ เข้ามาช่วยงานด้านการเมืองท้องถิ่นและการพัฒนาในต.ท่าทราย
“จริงแล้ว เรื่องการเมืองผมก็ไม่ได้สนใจน่ะ ก็พอดีนายก ฯ เรืองฤทธิ์   อุบลไทร ท่านมาคุยอยากให้เข้ามาร่วมงานพัฒนาท้องที่ท่าทรายกันหน่อย  ให้ช่วยเป็นสารวัตรกำนัน  พอดีปรึกษากับแม่บ้าน  แม่บ้านก็บอกรับปากเค้าไปก็ได้ จะได้ช่วยงานท้องถิ่นบ้าง ส่วนงานบริหารบริษัทโฟม จะเข้ามาดูแลแทนให้  โดยมีผมดูแลอยู่ห่าง ๆ วางแผนและเป็นคนจัดรถส่งของเอง”
ภายหลังจากตกปากรับคำพรรคพวกว่าจะรับตำแหน่ง สารวัตรกำนัน  ก็เป็นโอกาสให้คุณสุภาพ ได้เข้ามาทำงานเพื่อสังคม และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งหลายเรื่องสามารถดำเนินการได้โดยทันที เนื่องจากมีงบประมาณที่มากเพียงพอ ไม่ต้องรอจากส่วนกลาง
“ผมรับตำแหน่งสารวัตกำนันมาประมาณ 6 ปีแล้วครับ ต้องบอกเลยว่า ต.ท่าทรายมีปัญหาเยอะ ทั้งถนน น้ำเสีย  ถนนท่าทรายควรจะพัฒนาให้ดีกว่านี้ เพราะเรามีงบประมาณเยอะ ไหนจะเรื่องไฟฟ้า แสงสว่าง  มีงบเยอะบริหารได้สบายครับ ไม่ต้องรองบจากส่วนกลางเลย  ไหนจะเรื่องความสะอาด เรื่องขยะ ท่าทรายมีปัญหาเยอะครับ ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
หลังจากพูดคุยกันอย่างถูกคอจนเวลาล่วงเลยมาได้พักใหญ่ ก็ถึงเวลาที่ต้องขมวดจบการสนทนาเพื่อแยกย้ายกันไปทำธุระที่กำลังรออยู่มากมาย เราถามถึงคำถามสุดท้าย อย่างที่ทราบกันดีกว่า เศรษฐกิจช่วงนี้ย่ำแย่เอาการอยู่ในทุกแวดวง  ในฐานะคนทำธุรกิจ มองประเด็นนี้อย่างไร
“ชั่วโมงนี้อย่าทำอะไรหวือหวา   อันตรายครับ บางทีขายไปเงินก็เก็บไม่ได้ กลายเป็นลูกโซ่ไป ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะผมบริหารเอง อะไรทำท่าไม่ดีก็ต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ค้าขายสำคัญมากต้องซื่อสัตย์”
และนี้ก็คือ คมความคิดของนักสู้ชีวิตแห่งต.ท่าทราย นายสุภาพ พ่วงเจริญ ทั้งในฐานะเจ้าของ หจก. S&P FOAM และในตำแหน่งสารวัตรกำนัน ต.ท่าทราย  จากเนื้อหาสาระที่ได้ไถ่ถามกันกว่าค่อนชั่วโมง ทำให้รู้ว่า บรรดานักสู้ชีวิตทั้งหลาย กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ เล็กบ้าง ใหญ่บ้างสลับสับเปลี่ยนกันไป
หากสิ่งหนึ่งที่อยู่ในหัวใจของท่านเหล่านี้ก็คือ ความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่อฝากหนามต่าง ๆ ทำให้ชีวิตที่เกือบติดลบ พลิกมาเป็นบวกและยืนหยัดเป็น คนกล้าคนที่เก่งที่ชนรุ่นต่อ ๆ ไป ควรนำมาเป็นแบบอย่าง
………………………………
















  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น