pearleus

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สิ้นแล้ว! ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เจ้าผู้ครองใจชาวสลัม ปูชนียบุคคลนักพัฒนาสังคมชุมชน สิริอายุ 85 ปี

ม.ร.ว.ดร.อคิน รพีพัฒน์ หม่อมเจ้าผู้อยู่ในหัวใจคนสลัม ประธานมูลนิธิชุมชนไท  ถึงแก่อนิจกรรมที่โรง
พยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลา 16.58 น. วันที่ 16 พ.ย.61  รวมสิริอายุ 85 ปี  ถือเป็นความสูญเสียปูชนียบุคคลสำคัญที่มีบทบาทพัฒนาสังคมชุมชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนชายขอบ




ม.ร.ว.อคิน  ท่านเป็นประธานมูลนิธิชุมชนไทและนักวิชาการด้านชุมชนเมือง เป็นบิดาของ หม่อมหลวงกฤติกา โลหะชาละ (รพีพัฒน์)  ท่านเริ่มรักษาตัวเมื่อราว 6 เดือนก่อนเนื่องจากอาการหอบ โดยมีกำหนดรดน้ำหลวงอาบศพพระราชทาน วันที่ 19 พ.ย.61  เวลา 16.00 น สวดพระอภิธรรม วันที่ 19 - 25 พ.ย.61  เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 15 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร  เขตป้อมปราบฯ

..ขอน้อมนำความดีของท่านโดยเชิญปาฐกถาพิเศษ ‘ความยุติธรรมตามตัวอักษร : ความเป็นธรรม...ตามความเป็นจริง’ของท่านมาเผยแพร่คมความคิดไว้ ณ ที่นี้... "หลายท่านพูดถึงผมดีเกินไป บางทีผมก็สงสัยว่ามันไม่ใช่ตัวผม ครั้งหนึ่งสมัยเรียน อาจารย์คนหนึ่งนักเรียนบอกสอนไม่รู้เรื่อง แกบอกว่า มีคุณคนเดียว(ผม)ที่รู้เรื่อง แต่จริงๆแล้วผมไม่รู้เรื่องหรอก นี่เป็นอุทาหรณ์ อย่างไรก็ตามขอบคุณทุกคนที่พูดชื่นชมผม ผมคิดว่าที่ผมอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้อายุ 80 ปีเพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ...การที่ผมทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ถือว่าโชคดีมหาศาลเพราะผมมีเพื่อนดี ทั้งเพื่อนร่วมงานและทุกคนที่รู้จักรวมทั้งชาวบ้าน  แม้ว่าผมจะ
บริหารงานมาเยอะในหลายสถาบัน แต่ความจริงคือผมบริหารไม่เป็นและไม่เคยต้องบริหาร แม้ว่าจะเป็นประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนไท แต่คุณปรีดา(ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท)ก็ทำให้หมด แล้วยกความดีให้ผม หลายคนบอกผมถ่อมตัว แต่ผมคงเป็นคนน่าสงสารที่คนเห็นว่าทำอะไรไม่เป็น เลยมีแต่คนช่วยเหลือ ช่วยทำให้ จึงถือว่าผมเป็นหนี้บุญคุณคนจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านที่เขาเป็นครูของผม เพราะผมเรียนรู้จากเขาและรู้สึกว่าคนจนเขามีความกรุณา...

....มาถึงเรื่องความยุติธรรม มีหลายเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่ในมือคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลปี 2547 พบการขึ้นทะเบียนคนจนที่มีปัญหาที่ดินถึง 2.22 ล้านราย เป็นปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนกับชุมชน 1.1 ล้านรายในพื้นที่ 21 ล้านไร่ มีที่ดินเกษตรกร 39 ล้านไร่เข้าสู่กระบวนการการฟ้องร้องเพื่อขายทอดตลาด ถูกไล่ที่ และมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า 48 ล้านไร่เพราะคนซื้อและกักตุนไว้

...ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องการไม่มีที่ทำกินมาก และมีชาวบ้านที่ถูกจำคุกถึง 836 รายด้วยคดีบุกรุกที่ดิน และเขารู้สึกว่าสถาบันศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ขจัดความไม่เป็นธรรมพึ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโฉนดทับที่ชาวบ้าน  เช่นกรมที่ดินแทบไม่เคยเพิกถอนโฉนดนายทุน  โดยอ้างว่าออกโฉนดถูกต้องตามระเบียบ วิธีการตรวจสอบมันมีปัญหาเพราะดูแค่ว่าตัวเอกสารออกถูกระเบียบหรือเปล่า ไม่ได้ไปถามชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ว่านายทุนได้ที่ดินเหล่านั้นมาถูกต้องหรือไม่

...เช่นที่อุบลฯ อยู่ดีๆก็มีส.ส.ไปบอกชาวบ้านให้มาลงชื่อแล้วจะออกโฉนดให้  อีกส่วนก็บอกให้เอาที่มาขาย ปรากฏว่าเช็คเด้งหมด แล้วเขาก็เอาชื่อที่เซ็นมอบอำนาจ เซ็นขายให้ไปออกโฉนดเป็นชื่อตัวเอง ชาวบ้านถูกไล่ถูกฟ้องบุกรุก แม้ศาลจะมีทนายให้คนยากจน แต่ทนายที่ศาลจัดให้มักไม่มีความสามารถ  ดีไม่ดียังไปเข้ากับฝ่ายนายทุน  ชาวบ้านจึงร้องเรียนลำบากมาก.....

...ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม คือวิธีพิจารณาของศาลจะถือว่าเอกสารราชการเป็นหลักฐานสำคัญ  โฉนดจึงสำคัญสุดที่พิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของใคร เมื่อโฉนดออกทับที่ ศาลก็เชื่อโฉนด และเมื่อมีพยานบุคคลไปพูดในศาล หาก

เจ้าหน้าที่ราชการพูดด้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดอีกด้านหนึ่ง ..มักเชื่อว่าคำพูดเจ้าหน้าที่น่าเชื่อถือ เพราะมีข้อสันนิษฐานว่ารัฐทำอะไรถูกต้อง ดังนั้นเวลาฟ้องร้องคดีอะไรชาวบ้านจึงแพ้...

..ศาลไทยใช้ระบบกล่าวหา คือให้คนสองฝ่ายมาพูดโต้กัน โดยถือว่าสองฝ่ายเท่ากัน และพิจารณาเฉพาะ

ประเด็นที่ยกมาพูด แต่ประเด็นนอกเหนือจากนั้นไม่พูดเลย แต่ความจริงในสังคมไทยคือมันไม่เท่ากัน คนหนึ่งรวย อีกคนจน ข้อสันนิษฐานของกฎหมายเช่นนี้จึงมีข้อบกพร่อง ปัญหาของชาวบ้านคือถ้าเอกสารสิทธิ์บอกว่าบุกรุกก็คือบุกรุก สืบต่อไปไม่ได้ว่าเบื้องหลังการออกมีคอรัปชั่นเปล่า มีอิทธิพลบีบบังคับให้โฉนดออกมาเป็นแบบนี้หรือไม่ เพราะระบบกล่าวหาไม่สืบไปหรอก...

...ต่างจากระบบไต่สวน(ศาลมีอำนาจล้วงลูกสืบค้นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากหลักฐานที่นำมาแสดงได้) แต่ศาลยุติธรรมของเรามักไม่ใช้ระบบไต่สวน เพราะถูกสั่งสอนมาว่าต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆถึงใช้ระบบไต่สวนซึ่งศาลต้องลงมาดูความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย โดยมากอ้างว่าคดีเต็มมือและกลัวว่าจะช้า...

..ศาลอังกฤษใช้ระบบกล่าวหา และระบบไต่สวนถูกใช้ในยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน ปัญหาของเราคือใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่กลับใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งเป็นวิธีการของศาลในประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร และผู้พิพากษาของเราก็ถูกส่งไปเรียนอังกฤษ ไปเรียนวิธีพิจารณาความเพ่งความอาญา มากกว่าที่จะไปเรียนเนื้อหากฎหมาย  และโดยมากก็เรียนแบบระบบกล่าวหาจึงไม่มีการสืบค้นเรื่องเบื้องหลัง มันจึงมีปัญหาว่าถ้าผู้พิพากษารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็พิพากษาให้เป็นธรรมไม่ได้...เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรมันบังคับอยู่... แต่ไทยก็มีศาลที่ใช้ระบบไต่สวนคือศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ  แต่คนยากจน แค่หาเงินมาสู้คดีก็จะตายอยู่แล้ว ถ้าต้องไปฟ้องอีกคดีที่ศาลปกครองจะเอาเงินที่ไหน  และถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยุบศาลปกครองอีกก็ยิ่งร้ายใหญ่...

...และแม้ว่ารัฐบาลจะมีกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอชาวบ้านไปขอจริงๆก็ลำบากมาก ฉะนั้นเราจึงพยายามทำงานวิจัย  และคิดกันว่าจะจัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น เพื่อช่วยชาวบ้านพวกนี้ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เราอยากช่วยชาวบ้านที่ลำบากจริงๆ...

(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย) ...ม.ร.ว.อคิน  รพีพัฒน์  เกิดเมื่อ 22 มกราคม 2476 เป็นโอรสในหม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ ป.ช,ม.ว.ม.,ท.จ. (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และหม่อมอ่อน) กับหม่อมเจ้าหญิงทรงอัปสร รพีพัฒน์ (กิติยากร) ท.จ.ว. (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถกับหม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล)

ม.ร.ว.อคิน  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และปริญญาโทและปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล  เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเวลา 7 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิชุมชนไท

ช่วงที่ ม.ร.ว.อคิน เป็นผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระ
มหากษัตริย์ ได้ให้สัมภาษณ์ นิตยสารผู้จัดการ เดือนเมษายน 2537  ว่า รูปแบบการทำงานเพื่อลดแรงต้านก่อนดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินในขณะที่มีชุมชนแออัดตั้งอยู่ว่า จะเข้าไปลงพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาโดยตรง งานแรกที่ต้องทำก็คือ ทำความเข้าใจกับผู้อยู่เดิมให้รู้ว่าการพัฒนาคืออะไร และชาวบ้านจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยผลพิสูจน์ของแนวคิดนี้คือโครงการบึงพลับพลา ซอยรามคำแหง 21

หม่อมราชวงศ์อคิน ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ
พัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2535 และได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารจัดการสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 มีผลงานได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ผลงานวิชาการดีเด่น "TTF Award" ประจำปี 2551 จากมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย ด้วยหนังสือชื่อ "วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ"

รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ผลงานวิชาการดีเด่น TTF Award ประจำปี 2551  ที่มา: Toyota.co.th ในโอกาสครบรอบ 80 ปีเมื่อ 22 มกราคม 2556 องค์กรพัฒนาภาคเอกชนและหน่วยงาน 11 องค์กรที่เคยร่วมงานกับ ม.ร.ว.อคิน ได้ร่วมกันจัดเวทีวิชาการและแสดงมุฑิตาจิต และจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรม 80 ปี อคิน รพีพัฒน์” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

นอกจากนี้หนังสือเรื่อง "สังคมไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 2325-2416" ของ ม.ร.ว.อคิน ถูกจัดให้เป็นหนังสือ  1 ใน 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย สำหรับผลงานที่สำคัญของ ม.ร.ว.อคิน เช่น อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว.ปัญหาในการทำงานพัฒนาชนบท ประสบการณ์โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง. กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522 อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416 (ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ผู้แต่ง ; ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข, พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ผู้แปล.) กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527 อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. และคนอื่นๆ.  สลัม : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข. กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525. อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. และวรรณพร วิเชียรวงษ์. ชุมชนแออัดและแนวทางเกี่ยวกับการปรับปรุงชุมชนแออัด กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524


*********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น