pearleus

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ผักสานพลังสามัคคี “ชุมชนบ้านแก่นท้าว” ปลอดสารพิษ-ปลอดภัย-ลดรายจ่ายในครัวเรือน


เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยึดติดกับเข็มของนาฬิกาของระบบทุนนิยม ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของคนส่วนใหญ่ในสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและสามารถพึ่งพาตนเองได้แบบดั้งเดิมเริ่มเลือนหาย ข้าวของเครื่องใช้ของกินทุกอย่างอย่างต้องจ่ายหรือซื้อมาด้วยเงิน แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการปลูกพืชผักสวนครัวในรั้วบ้าน

เมื่อความสะดวกสบายต่างๆ วิ่งเข้าหาถึงหน้าประตูบ้าน ความคิดแบบ “อยากได้อะไรก็ซื้อเอา” ขยายผลเข้าครอบงำวิถีชีวิต จนลืมคิดไปว่าสิ่งที่ต้องซื้อหามาบริโภคแต่ละวันนั้นล้วนแลกมาได้ด้วย “เงิน” บางวันจ่ายหลักสิบบางวันก็หลักร้อย รวมกันเดือนๆ หนึ่งก็เกือบหนึ่งหมื่นบาททั้งๆ ที่พืชผักสวนใหญ่แล้วสามารถปลูกได้เองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พริก กระเพรา โหระพา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนั้น ต่างก็ใช้ทั้งสารเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อแข่งขันกันในตลาด ทำให้มีสารพิษตกค้างจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค


นางฟารีดา ดาโอะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลมายอจังหวัดปัตตานี เกิดแนวคิดว่าเมื่อเราบริโภคผักเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ทำไมเสี่ยงกินผักที่มีสารพิษตกค้าง แถมเสียเงินจำนวนมากในแต่ละเดือน ทั้งๆ ที่ สามารถปลูกไว้รับประทานได้เองภายในครัวเรือน จึงเป็นที่มาของการชักชวนกลุ่มแม่บ้านของชุมชนบ้านแขนท้าว อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีให้หันมาปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้รับประทานกันเองในครัวเรือน จนเกิดเป็น “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน”โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่นอกจากจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของสมาชิกทุกคนในชุมชนอีกด้วย

นางกรรฐิมาณี มะเดงเกษตรกรต้นแบบวิถีพอเพียง และที่ปรึกษาด้านการปลูกผักปลอดสารพิษของโครงการฯ บอกว่า มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ทำสวนผสมผสานแบบเกษตรพอเพียงมานานหลายปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่ค่อยรู้ เพราะมองจากถนนเข้ามาไม่เห็น โดยปลูกทุกอย่างที่กินและขายได้ทั้ง กล้วย, มะนาว, มะขาม, สะตอ, มะม่วง, ตาล, หมาก, ชะอมฯลฯมีบ่อเลี้ยงปลาดุก และแปลงปลูกพืชผักสวนครัวอีกนับสิบชนิด และก็เพิ่งเก็บมะนาวส่งขายที่ตลาดไป 25 กิโลกรัม ได้เงินมาถึง 700 บาท


ทั้งนี้ที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมักจะมองว่าผักนั้นหาซื้อง่าย เดี๋ยวก็มี “รถโชเล่” หรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างขับเข้ามาขาย  ลืมคิดว่าการซื้อผักครั้งหนึ่งใช้เงินอย่างน้อยที่สุดราว 30 บาท ถึง 150 บาท โดยเฉพาะในช่วงที่ผักมีราคาแพง  แต่ละเดือนเป็นเงินหลายพันบาท บางครอบครัวอาจถึงเกือบหนึ่งหมื่นบาท ที่สำคัญผักเหล่านี้มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยแรงจูงใจอีกทางคือทาง โรงพยาบาลมายอ  ร่วมให้ความรู้ พิษภัยจากการบริโภคผักที่ปนเปื้อนสารเคมี   และผลร้ายจากการบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะผักคะน้า ต้นหอม และผักชี ที่ชาวบ้านแทบไม่เชื่อว่าจะใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเยอะมากจนแทบไม่กล้ารับประทานผักชนิดนี้จากตลาดอีกต่อไป

นางยาวาเฮ อุมา หนึ่งในสมาชิก เล่าว่าเมื่อเห็นภาพและข้อมูลต่างๆ แล้วก็เริ่มตกใจ อย่างถั่วงอกนี่ก็ใช้สารเคมีเยอะมาก พอเห็นภาพคนเป็นมะเร็งแล้วก็ยิ่งกลัว เลยหันมาปลูกผักกินเอง  พื้นที่เล็กๆ เพียงไม่กี่ตารางวา ข้างบ้านปลูกพืชผักสวนครัวได้หลายชนิด  ตอนนี้คิดจะปลูกผักสลัดดูบ้าง

ด้านนางนูรียะห์  บือราเฮง   บอกว่าชุกชวนกันปลูกทานตะวัน, ฟักเขียว, อ้อย, แตงกวา, ถั่วฟักยาว, กระเจี๊ยบ, บวบเหลี่ยม, บวบงู และผักสวนครัวต่างๆ โดยต้นทานตะวันนั้นปลูกเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์มาเพาะเป็นต้นอ่อนทานตะวัน ส่วนอ้อยนั้นก็ปลูกเพื่อที่จะนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยขาย

“ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันหลายคนซื้อผักวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 80 บาท ตอนนี้ไม่ต้องซื้อแล้วเพราะมีผักแทบทุกอย่าง ซื้อแค่เนื้อสัตว์   ถ้าเก็บได้เยอะก็เอาไปแบ่งหรือแลกเปลี่ยนกัน ครอบครัวได้กินผักปลอดสารพิษจะได้ปลอดภัย  ยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งที่บ้านยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องของการทำสารอีเอ็มและปุ๋ยชีวภาพด้วย”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการฯยังได้จัดกิจกรรม“แข่งขันการปลูกผัก” โดยแบ่งออกเป็นโซนต่างจำนวน 4 โซนของชุมชน  มีรางวัลน่ารักเก๋ไก๋เป็นผ้าถุง 1 ผืนสำหรับผู้ชนะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงยังเป็นการช่วยสานความสัมพันธ์ สานความสามัคคีระหว่างสมาชิกในชุมชน   เกิดการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชผัก ผลผลิต เทคนิค ระหว่างกัน

“โครงการนี้นอกจากอยากที่จะให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานกันเองในครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้จำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือเราอยากเห็นความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันขึ้นในชุมชนของเรา ซึ่งเป็นภาพในอดีตที่กลับคืนมาสู่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง และเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน”นางฟารีดา ดาโอะผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวสรุป

การปลูกผักสวนครัวของชาวชุมชนบ้านท้าวแขน นอกจากจะประหยัดและปลอดภัยต่อสุขภาพแล้ว ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มด้วยสามัคคีเข้มแข็งขึ้น และพร้อมที่จะขยายผลจากการดูแลสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครัวเรือนไปสู่การสร้างชุมชนแห่งนี้ให้มีสุขภาวะ


*********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น