pearleus

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พม. ขับเคลื่อนบูรณาการเชิงพื้นที่ “ประชารัฐร่วมใจ ป้องภัยสตรีและครอบครัว” ภายใต้กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพลังบวกสามประจำปี60 ปล่อยขบวนรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก-จ.เชียงราย



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3-4 มิ.ย. 60 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยการนำของผู้บริหาร นายไมตรี อินทุสุต ปลัดพม.นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีสค.,รองอธิบดีสค.คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน สังกัดกระทรวงฯตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน องค์กรสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย และสื่อมวลชนท้องถิ่นและส่วนกลางกว่า 400 คน ร่วมกิจกรรมสัมมนาขับเคลื่อนบูรณาการเชิงพื้นที่"ประชารัฐร่วมใจป้องกันภัยสตรีและครอบครัว"ภายใต้กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัวประจำปี2560 ณ ที่ว่าการอ.แม่สาย จ.เชียงราย

โดยปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานพิธีเปิด,บรรยายพิเศษ,มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาพร้อมปล่อยขบวนรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “การค้ามนุษย์” นับเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง  รัฐบาลมีเจตนารมณ์ป้องกันและปราบปรามให้หมดสิ้น ทั้งนี้ในปี 2559 มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ทั้งหมด  333 คดี พบว่าร้อยละ 75 เป็นคดีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบการค้าประเวณี รองลงมาเป็นคดีบังคับใช้แรงงาน และการแสวงหาประโยชน์จากการนำคนมาขอทาน  และจากรายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report)ได้เลื่อนอันดับให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List)

ดังนั้นพม.  ได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน  พร้อมทั้งเพิ่มระดับความเข้มข้นในการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมี พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก 11 ด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.) การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การเพิ่มจำนวนล่ามการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงการทบทวน MOU และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้นการค้ามนุษย์ข้ามชาติ การจัดระเบียบสถานบริการและพื้นที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดจากการค้าบริการทางเพศ (SEX TOURISM) การขจัดสิ่งยั่วยุให้เกิดการค้ามนุษย์ (สื่อลามก) พัฒนาสถานที่รองรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพบุคลากรที่ดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจัง โดยสค.เป็นเลขาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากิจกรรมสำคัญประกอบด้วย   การออกบูธนิทรรศการการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน6 หน่วยงาน ประกอบด้วย One Home เชียงราย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงราย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Jica) มูลนิธิศุภนิมิต และมูลนิธิเดสทินี่เรสคิว สำนักงานเชียงราย   กิจกรรมเดินรณรงค์สร้างแสต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก และการลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ตามแนวตะเข็บชายแดน


สำหรับประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้ โดยแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมงและหากนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิด จะได้รับเงินค่าตอบแทนตามฐานความผิดอีกด้วย

พร้อมกันนี้สค. ยังเปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวฯโดยนายเลิศปัญญา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว ภายใต้แนวคิด ประชารัฐร่วมใจ ป้องภัยสตรีและครอบครัว โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้บริหาร สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมการสัมมนา พร้อมทั้ง นางภัทราวดี ปัญญาบุญ นายอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยคณะหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทุกหน่วยงานได้มาร่วมให้การดูแลต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน

อธิบดีสค.กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัว เป็นภารกิจที่ พม. ให้ความสำคัญมาก เพราะนอกจากสตรีจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว สตรียังเป็นกลุ่มพลังที่ช่วยในการขับเคลื่อนสังคมในหลายมิติ และในปัจจุบันสตรีไทยเข้ามามีบทบาทด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ หรือแม่แต่ในระดับนานาชาติ ศูนย์ฯทั้ง 8 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นช่องทางหนึ่งที่ สค. ใช้พัฒนาศักยภาพสตรี  เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการดูแลสวัสดิการด้านต่าง ๆ ได้รับการฝึกอาชีพตามความสนใจ หรือความถนัด และเมื่อจบหลักสูตรการฝึกอบรมแล้ว ยังดูแลเรื่องการหางานทำเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวด้วย เป็นกลไกหนึ่งที่ พม. ใช้ในการป้องกันไม่ให้ยุวสตรีตกเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การเสวนา การจัดนิทรรศการผลสำเร็จการดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพสตรี การจัดแสดงสินค้าฝีมือของผู้เข้ารับการอบรมจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือจังหวัดลำปาง ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหาร พม. ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดเชียงราย องค์กรสตรี กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน สื่อมวลชนจากส่วนกลาง สื่อมวลชนในพื้นที่ ส่วนราชการในจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 600 คน


**************************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น