pearleus

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“จันทพร พลอินตา”ครูผู้สอนชีวิต-คิดวิเคราะห์ด้วย “ภาษาไทย” น้อมนำตามรอย “พระราชดำรัส”มุ่งมั่นใช้การศึกษาพัฒนาท้องถิ่น



“คุณครูอดทนนะ คุณครูจะช่วยเขาได้ เพราะว่าที่นี่ต้องการครู ไม่ต้องนึกถึงสิ่งที่เขาสบายกัน ไม่ต้องสนใจ ขอให้ครูอดทน...”
พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างไม่ถือพระองค์ เมื่อครั้งที่ทรงติดตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินยัง โรงเรียนบ้านแจ่มหลวง ตำบลวัดจันทร์อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2522เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้“จันทพร พลอินตา” มุ่งมั่นทำหน้าที่ “ครู” เพื่อเด็กบ้านป่าปลายดอยด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลมาตลอดทั้งชีวิต โดยใช้ “ภาษาไทย” เป็นเครื่องมือเปิดโลกกว้างการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จนได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2560 จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี


“ปีนั้น(2521)สอบบรรจุได้ที่อำเภอฮอด แต่จับพลัดจับผลูสลับกับเพื่อนได้มาอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม พอดีกับที่โรงเรียนบ้านแจ่มหลวงที่อยู่ลึกเข้าไปอีกไม่มีครู ก็เลยอาสาไป การเดินทางตอนนั้นต้องไปเริ่มต้นที่อำเภอสะเมิงพอหมดทางถนนที่รถแล่นได้ ก็ต้องเดินเท้าขึ้นดอยตามหลังม้าไปอีก 2 วันกว่าจะถึงโรงเรียน ไปถึงวันแรกก็เอาลูกอมไปแจกเด็กๆ เสร็จแล้วก็ได้ยินเสียงพูดเป็นภาษากระเหรี่ยงว่าไม่อร่อยแล้วคายออกมา ปรากฏว่าเขากินทั้งๆ ที่ยังไม่แกะห่อ ตอนนั้นเลยเกิดแรงบันดาลใจว่าเด็กๆ ยังต้องการความรู้และทักษะชีวิตอีกเยอะมาก” ครูจันทพรเล่าถึงการทำงานในยุคแรกๆ
ที่บ้านแจ่มหลวง(ปัจจุบันเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา) ในห้วงเวลานั้นเป็นพื้นที่สีแดง ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ยังคงคุกรุ่น โรงเรียนและชุมชนเป็นเสมือนพื้นที่กันชนระหว่างทหารของรัฐบาลและทหารป่าเมื่อมีครูคนใหม่ย้ายเข้ามา “ครูจันทพร” จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษจากทุกฝ่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานตามพระราชดำรัสฯ และความศรัทธาใน 3 สถาบันหลักของชาติทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี


“พอปี 2524 ก็ได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดแม่กำปอง ตอนนั้นยังเป็นอำเภอสันกำแพง แม้จะอยู่ใกล้บ้านเกิดโดยห่างไปเพียง 11 กิโลเมตร แต่ก็ใช้เวลาเดินทางจากแม่ออนถึงแม่กำปองกว่า 6 ชั่วโมง ทั้งลุยโคลนขุดดินเข็นรถเครื่อง และพื้นที่ตรงนี้เองก็ยังเป็นสีชมพูที่มีความขัดแย้งอยู่ ทั้งโรงเรียนมีครู 3 คน เด็ก 70 กว่าคนต้องสอนแบบ 20 วันไม่หยุดเลย อีก 10 วันหยุดกลับบ้านเพราะการเดินทางยากลำบากมาก” ครูจันพรเล่า
ณ ที่แห่งนี้ “ครูจันทพร” ได้เกิดความคิดที่จะใช้ “การศึกษา” พัฒนาคนในชุมชนท้องถิ่นจากการที่ได้เห็นว่าผู้ปกครองของเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือแม้จะเขียนหรือเซ็นชื่อก็ยังทำไม่ได้ จึงไปติดต่อเพื่อหาครู กศน. เข้ามาสอน แต่เพราะหนทางไกลและลำบาก ผลสุดท้ายจึงลงเอยด้วยการทำหน้าที่สอนหนังสือเด็กๆ ในตอนกลางวัน และพอตกกลางคืนก็เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นครู กศน. สอนผู้ใหญ่ในชุมชนควบคู่กันไป
“ไม่ได้คิดว่าจะเป็นภาระเลย แค่อยากเห็นชาวบ้านเขามีความรู้เพราะได้เห็นมาตั้งแต่แม่แจ่มแล้วว่าการไม่มีความรู้นั้นเป็นอย่างไร ประกอบกันในช่วงนั้นคนในชุมชนก็มีปัญหาเรื่องความเชื่อที่ไม่ลงรอยกัน ก็เลยคิดว่าถ้าเราให้การศึกษาก็จะทำให้เขามีความคิด แล้วระหว่างที่สอนก็จะสอดแทรกเรื่องต่างๆ ให้เขามีความรักในประเทศชาติและบ้านเกิด เป็นคนไทยเหมือนกันจะขัดแย้งกันยังไงก็คุยกันได้ ตอนนั้นก็สอนแบบไม่สอน ชวนเขามาพูดคุยกัน ร้องเพลง เล่านิทานพื้นบ้าน แล้วสอนภาษาไทยแทรกไปด้วย” ครูจันทพรเล่า
ย้ายมาที่แม่กำปองเพียง 1 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินที่แม่กำปอง สมัยนั้นทางขึ้นหมู่บ้านแม่กำปองยังคงเป็นทางดินแคบๆ สองข้างทางยังเป็นป่ารกชัฏ ทั้งสองพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาท เพื่อไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านและครูที่โรงเรียนแม่กำปองโดยไม่ถือพระองค์ และไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและนับเป็นครั้งที่ 2 ของ “ครูจันทพร” ที่ได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฯ เข้ามาติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าพลังน้ำทำให้ชาวบ้านได้มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแม่กำปองไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศในปัจจุบัน


“การทรงงานหนักของทุกพระองค์เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชนเพราะว่าเราอยู่ตรงไหนไม่ใช่พัฒนาแต่โรงเรียน นักเรียนก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ปกครอง ทุกอย่างต้องพัฒนาไปด้วยกันเป็น บ-ว-ร ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน แล้วเวลาที่สอนเด็กก็จะใช้ทักษะเรื่องของภาษาไทยพูดให้ไพเราะน่าฟัง ให้เด็กเป็นสื่อที่จะสอนเผื่อไปถึงผู้ปกครองด้วย  หลังเข้าแถวเคารพธงชาติ ก็จะบอกว่าเราอยู่ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ไม่มีประเทศไทยที่จะสุขเท่าประเทศไทย เห็นไหมเราอยู่บนดอย อากาศก็บริสุทธิ์ สูดหายใจได้เต็มปอด” ครูจันทพรเล่า
นอกจากใช้เวลาทั้งหมดไปกับการสอนเด็กและผู้ใหญ่ “ครูจันทพร” ยังสลายความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนแห่งนี้ให้กับมาแนบแน่นเหมือนเดิม ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมายทั้งชวนแม่บ้านมาเรียนทำอาหาร ดอกไม้ประดิษฐ์ ฟ้อนรำฯลฯ เพื่อให้คนจากแต่ละหมู่บ้านได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน
“เวลาที่มาทำกิจกรรมก็จะสอดแทรกเรื่องของพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าที่เราได้มีไฟฟ้าใช้ก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯ รักเรา เราก็ต้องรักพระเจ้าอยู่หัวฯ แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวฯ ถ้าเราไม่รักสามัคคีกัน แล้วบ้านเราจะเจริญเติบโตได้อย่างไร มาตอนหลังก็ทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่าพระองค์เสด็จมาไฟฟ้าสว่างไสว ก็สอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปทั้งในโรงเรียน พูดผ่านลำโพงในตอนเช้าถึงสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ และสอดแทรกเรื่องความรักบ้านเกิดเพื่อให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ค่อยๆ ซึมซับ” ครูจันทรพร ระบุ


ตลอดระยะเวลา 24 ปีกับการทำหน้าที่ๆ มากกว่าแค่การสอนหนังสือของ “ครูจันทพร” ที่โรงเรียนวัดแม่กำปอง ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย จากหมู่บ้านเล็กๆ ในป่าที่น้อยคนจะรู้จัก สู่พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระดับโลกที่ใครๆ อยากที่จะเข้ามาสัมผัสความสวยสดงดงามสักครั้งหนึ่งในชีวิต จนมีคำสรุปความสั้นๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ถึงคุณครูนักพัฒนาท่านนี้จาก “นายธีรเมศขจรพัฒนภิรมย์” อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่กำปองว่า...“ถ้าไม่มีคุณครูจันทพรในวันนั้น ก็จะไม่มีพวกเราแม่กำปองในวันนี้”
ปัจจุบัน “ครูจันทพร” ย้ายลงมาสอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดห้วยแก้วอำเภอแม่ออน และใช้ประสบการณ์ในการสอนหนังสือกว่า 40 ปี คิดค้นพัฒนา “นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการแบบองค์รวม” หรือ “5T Model” เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ในวิชาภาษาไทยให้สามารถบูรณาการสอนได้กับทุกสาระวิชา จนได้รับรางวัลพระราชทาน “บัณณาสสมโภช ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อย่างต่อเนื่องจำนวนถึง 3 องค์ในรอบ 10 ปี และยังออกแบบสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อให้การเรียนรู้ภาษาไทยของเด็กๆ เป็นเรื่องสนุก และสามารถพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เกิดขึ้นได้
“มาอยู่ที่นี่ก็พยายามเอาคำว่าบูรณาการมาใช้ ภาษาไทยบูรณาการกับวิทยาศาสตร์ได้ วิทยาศาสตร์ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต อะไรก็ได้ที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าเด็กเข้าใจในการบูรณาการและลงมือทำ ทักษะภาษาไทยนั้นจำเป็นมาก ต่อให้เก่งวิทยาศาสตร์เก่งคณิต แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจกระบวนการฟังพูดอ่านเขียน ก็จะไปไม่รอด ก็เลยเอาทักษะภาษาไทยตรงนี้ใช้มาเป็นเครื่องมือให้เด็กไปหาความรู้ หลังจากหาความรู้แล้ว เด็กก็จะต้องใช้เทคโนโลยี ต้องลงมือทำ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล และออกมานำเสนอ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สนุกและสามารถบูรณาการได้ทุกสาระวิชา” ครูจันทพรเล่าถึงแนวทางการสอนแบบ 5T


ในวันที่ทิศทางของการศึกษาไทยมีเป้าหมายเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 “ครูจันทพร” ยืนยันว่าแม้จะอยู่บ้านป่าห่างไกลความเจริญ แต่ครูทุกคนสามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ได้โดยไม่ต้องง้อหรือรอให้มีเทคโนโลยี ขอแค่ครูมีคำว่า “บูรณาการ” อยู่ในหัวใจก็พอ
“ที่สำคัญเมื่อเราเป็นครู เราต้องรู้ว่าหัวใจครูนั้นอยู่ที่เด็ก เด็กต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง หัวใจครูอยู่ที่เด็ก ดังนั้นเราต้องทุ่มเททั้งการสอนและการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก คุณธรรมต้องนำวิชาการ และต้องมีความเมตตากับเด็ก เอาหัวใจเรามอบให้เด็ก แล้วเด็กก็จะมาอยู่ในหัวใจของเรา” ครูจันทพรกล่าวสรุป


สำหรับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล ที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี,สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน โดยจัดให้มีการมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยจะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560.


***********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น