pearleus

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

มท. 1 เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด มอบนโยบาย ผู้ว่า ฯ – นายอำเภอ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเด็ดขาด



 

   วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ รอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี กระทรวงมหาดไทยได้จัดการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 โดยมี
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการมอบนโยบาย โดยผู้เข้าร่วมกว่า 1,420 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข 
กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด 76 จังหวัด และนายอำเภอ 878 อำเภอ 
  พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีความสนพระทัยการแก้ไข ปัญหายาเสพติด ขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ การบังคับใช้กฎหมาย ระบบบำบัดผู้ติดยาเสพติดผ่าน ชุมชนบำบัด และการสมัครใจบำบัด โดยขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นทั้งนโยบายหลักและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการปราบปราม การลดจำนวนผู้ค้า ผู้เสพ การป้องกัน ฟื้นฟู และดูแลผู้เสพผ่านกลไกการทำงาน โดยศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ยึดหลักการลดอุปสงค์และอุปทานของยาเสพติด ในส่วนของผู้ผลิตและ ผู้จำหน่าย (อุปทาน/Supply Side) เจ้าหน้าที่ต้องเน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยพื้นที่ตอนใน ผู้ว่า ฯ ต้องให้ความสำคัญทั้งกับฝ่ายท้องที่ ท้องถิ่น คณะกรรมการหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดประชาชนสนับสนุนการทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนดำเนินการในรูปแบบประชาสังคม (Civil Society) โดยใช้การข่าวร่วมกับการปราบปราม พื้นที่ชายแดนนายอำเภอต้องใช้กลไกประสานงานแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office: BLO) เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ไปจนถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด (อุปสงค์/Demand Side) ให้ความสำคัญไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเสี่ยงสูง (15 – 24 ปี) โดยใช้พลังครอบครัว กล่อมเกลาให้เป็นคนดี หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมการบำบัดรักษาด้วยระบบสมัครใจ ผ่านศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกรมการปกครอง ที่ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ การลดผู้เสพซ้ำ เน้นการคืนคนดีสู่สังคม โดยติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาในทุกระบบ โดยเฉพาะให้ความสำคัญชุมชนบำบัด เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกผ่านความร่วมมือและเปิดโอกาสจากคนในชุมชนด้วยกัน ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนแม่ของแผ่นดิน  และกองทุนพัฒนาบทบาท สตรีเพื่อสร้างรายได้ ไปจนถึงเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านหมู่บ้าน/ชุมชนปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน 
.
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งท้องที่และท้องถิ่นให้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จริงจัง โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านถือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จะต้องช่วยติดตาม แจ้งข้อมูลข่าวสารให้เจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น ผู้ว่าฯ จะต้องควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น