pearleus

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พรบ.คุ้มครองสถาบันครอบครัวฉบับใหม่ปี62 บังคับใช้ 20 ส.ค.นี้..อธิบดีสค.ชี้ทันสมัย ให้ประโยชน์กับผู้ถูกกระทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 62  เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติงานตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

สำหรับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวพบช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานหลายอย่าง จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ....ขึ้น และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562

ทั้งนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ได้จัดประชุมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฯ ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2562 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการกำหนดมาตรการทางสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว รวมทั้งการคุ้มครองป้องกัน เยียวยา การบำบัดฟื้นฟู โดยเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสาธารณสุข และองค์กรชุมชน การสนับสนุนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติงานได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามกฎหมาย และมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความถูกต้องและเข้มแข็ง เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัด พนักงานสอบสวน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้แทนองค์กรภาครัฐ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สค. วิทยากร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 260 คน









นายเลิศปัญญา ให้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมว่า พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ขณะนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งหลัง 90 วันจะมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 20 สิงหาคม 2562  เป็นการยกเลิก พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง พ.ศ.2550   ทั้งฉบับเลย ซึ่งฉบับเดิมมี 18 มาตรา ฉบับใหม่มี 7 หมวด 47 มาตรา ซึ่งจะพูดถึงการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว การคุ้มครอง การสวัสดิภาพของครอบครัว


"จะพูดหลายเรื่อง ทันสมัยมากขึ้น  ถ้าประกาศใช้ก็จะได้ประโยชน์กับคนที่ถูกกระทำความรุนแรง ฐานเดิมเราใช้ความผิดความรุนแรงในครอบครัว แต่อันใหม่ เรายกเลิก ดังนั้นฐานความผิดใช้อาญา ไม่ว่าจะเป็นการทำร่างกาย จิตใจ สุขภาพ ชื่อเสียง เสรีภาพ การบังคับขู่เข็ญต่าง ๆ กระทำหรือไม่กระทำถือว่าเป็นความผิดอาญา เราจะส่งฟ้องไปทางศาลเยาวชนและครอบครัวกลางด้วย ซึ่งทางโน้นจะมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำด้วย ผู้กระทำจะถูกจำกัดสิ่งต่าง ๆ โดยนำไปปรับพฤติกรรม หากมีการกระทำที่ผิดประเภทยาเสพติด หรือสุรา การกระทำทางสภาพจิตต่าง ๆ  จะต้องรับการบำบัด และโดนโทษคดีอาญาไปด้วย ซึ่งการบำบัดเหล่านี้จะไปลดโทษทางอาญาได้ ถ้าหากมีการกระทำดีขึ้น ถือเป็นกฎหมายที่เกิดความยุ่งยากขึ้น จะทำให้ผู้กระทำไม่อยากกระทำซ้ำอีก ในเรื่องบุคคลในครอบครัวก็จะชัดเจนขึ้น เราแบ่งเป็นสายโลหิตทั้งพฤตินัย นิตินัยและหรือที่อยู่ในการพึ่งพาหลังคาเดียวกันก็จะเกิดขึ้น"อธิบดีกรมส.ค.กล่าว

พร้อมระบุว่า เรื่องของกลไกต่าง ๆในการทำงาน  จะมีการเสริมสร้างครอบครัวในกลไกระดับชาติมีการตั้งกรรมการชาติโดยนายกรัฐมนตรี ฯ ได้มอบหมายรองนายก ฯเป็นประธาน ก็จะมีทุกภาคส่วนร่วมทำงานด้วยกัน มีกลไกระดับจังหวัด มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่ด้วย  เรียกว่าหน.ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว เมื่อก่อนผู้เสียหายต้องร้องทุกข์เอง แต่กฎหมายใหม่  หน.ศูนย์ฯ พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับแจ้งสามารถร้องทุกข์กับศูนย์ได้ ถือว่าเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนั้นในเรื่องการถูกกระทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งผู้ถูกกระทำเป็นผู้กระทำเสียเองเรียกว่า
Batterd woman syndrome จะนำไปใช้ในการร้องทุกข์ ลดโทษได้ ในบทเฉพาะกาลยังพูดถึงการเอามาร้องทุกข์ใหม่ได้ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เปิดกว้าง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำ  กฎหมายจะสร้างความเป็นธรรม สร้างประโยชน์กับพี่น้องประชาชนที่ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นใครที่พบเห็นว่าจะเกิดความรุนแรงหรือพบเห็นการกระทำรุนแรง รีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชม หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้ง 76 จังหวัด. เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือทันท่วงที

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น