pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

มท. ร่วมประชุมคณะมนตรีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน สมัยที่ 110




     เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 ณ อาคารสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ร่วมกับนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) สมัยที่ 110 
     นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย (Country Statement) โดยได้แสดงความขอบคุณองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในฐานะเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลก ซึ่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจในการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 40 ปี ซึ่ง IOM ในฐานะหน่วยงานภาคีได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการเป็นอย่างดีเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ยังประเทศที่สาม และโครงการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ
     นอกจากนี้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ได้ทราบถึงความคืบหน้าของประเทศไทยในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาในประเทศไทย อาทิ การให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นเยาวชน การดำเนินมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักกันคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะผู้โยกย้ายถิ่นที่เป็นสตรีซึ่งเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้สามารถอาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้ การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งความพยายามของประเทศไทยในการดำเนินการเพื่อนำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe , Orderly and Regular Migration : GCM) ไปสู่การปฏิบัติภายในประเทศ
     นายอันโตนิโอ วาเลนติโน ผู้อำนวยการใหญ่ IOM ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อให้ครอบคลุมผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การดำเนินมาตรการแทนการกักตัวเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานในสถานกักกันคนต่างด้าว และการสนับสนุนงบประมาณให้แก่กองทุนเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ รวมทั้งการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
     ซึ่งในที่ประชุม ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกับ IOM และประเทศสมาชิก เพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินการต่อสถานการณ์ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ยั่งยืนต่อไป
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น