pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

เรือบรรทุกกากน้ำมันจมลงบริเวณปากอ่าวมหาชัย

1 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2557 ว่าที่ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงเรือตรวจการณ์ของกรมทรัพยากรทางทะเล เพื่อออกไปตรวจติดตามสถานการณ์เรือบรรทุกกากน้ำมันจมลงบริเวณปากอ่าวมหาชัย ห่างจากชายฝั่งทะเลตรงปากคลองประมงพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ไปประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อเรือตรวจการณ์ไปถึง ก็พบว่า มีเรือของกรมเจ้าท่าโดยนายสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร กำลังให้เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ลงบนพื้นผิวทะเลที่มีคราบน้ำมันลอยอยู่อย่างประปราย ซึ่งสารนี้จะช่วยทำให้คราบน้ำมันที่จับเป็นก้อนสีดำนั้น เกิดการแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ และจะถูกย่อยสลายไปโดยแสงแดด นอกจากนี้ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร มีเรือบรรทุกน้ำมันเก่า(กากน้ำมัน) ลอยอยู่ 1 ลำ กำลังพยายามกู้เรือบรรทุกน้ำมันเก่า(กากน้ำมัน) ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลลึกประมาณ 6.5 เมตร และมีการนำลูกยางมาล้อมรอบไว้เพื่อกั้นไม่ให้คราบน้ำมันกระจายลอยออกไปบริเวณด้านนอก

Image1 Image2 โดยในเบื้องต้นนายสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือบรรทุกกากน้ำมันที่จมลงและยังไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ว่า เรือลำดังกล่าวเป็นเรือของคนไทย มีความยาวประมาณ 16 เมตร กว้าง 4.5 เมตร และความลึกของเรือ 1.8 เมตร บรรทุกกากน้ำมันมาประมาณ 3 – 6 หมื่นลิตร โดยกากน้ำมันเหล่านี้ทางเรือลำที่เกิดเหตุได้รับมาจากเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ จากนั้นก็กำลังมุ่งหน้าเข้ามาเพื่อจะเทียบท่าที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วก็จะนำกากน้ำมันทั้งหมดถ่ายเทไปขึ้นรถบรรทุก จากนั้นจะนำไปส่งให้กับบริษัทรีไซเคิล ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็จังหวัดสระบุรี เพื่อทำการรีไซเคิลและนำกลับไปใช้ใหม่ โดยจากการสอบถามลูกเรือที่มีอยู่ 5 คนนั้น บอกเพียงแค่ว่าสาเหตุที่เรือจมลงก็เพราะมีน้ำเข้าห้องเครื่อง แต่จะเข้ามาจากทางใดหรือจุดที่น้ำเข้าอย่างแน่ชัดนั้นยังไม่มีใครยอมให้ข้อมูล แต่หลังจากที่ลูกเรือเห็นว่าเรือกำลังจะจมลงก็ได้ทำการปิดวาล์วน้ำมันก่อน จากนั้นก็คาดว่าน่าจะมีการประสานไปยังบนฝั่งเพื่อแจ้งให้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีเรือจากบนฝั่งมาช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 5 คนได้อย่างปลอดภัย ส่วนวิธีการที่จะกู้เรือบรรทุกกากน้ำมันที่จมอยู่ใต้ทะเลลึกประมาณ 6.5 เมตรขึ้นมานั้น ก็คือ ใช้ถังน้ำมันเปล่าใส่เข้าไปในห้องเครื่อง เพื่อให้ถังน้ำมันเปล่าเข้าไปแทนที่น้ำ ซึ่งก็จะทำเรือก็จะเบาและยกตัวลอยขึ้นมาได้เอง ขณะที่ในส่วนของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมานั้น ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ คงต้องรอให้กู้เรือขึ้นมาได้ก่อน ซึ่งก็คาดว่าจะสามารถกู้เรือได้เสร็จสิ้นภายในวันนี้อย่างแน่นอน

ด้านว่าที่ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า จากการประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในท้องทะเลตรงบริเวณจุดที่เรือจมลงนั้น ไม่รุนแรงมากนักและทางกรมเจ้าท่า ก็ได้มีการนำสารลดแรงตึงผิวมาฉีดพ่นกำจัดได้จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ บริเวณชายฝั่งทะเลตรงปากคลองประมง เนื่องจากเมื่อช่วงเช้ามืดมีลมพัดเข้าหาฝั่งทำให้คราบน้ำมันลอยเข้าไปตรงชายฝั่งทะเล ที่ชาวบ้านมีการทำประมงชายฝั่งกันเป็นจำนวนมาก เช่น ฟาร์มหอยแมลงภู่ หอยสองฝา และเลี้ยงปูทะเลในกระชัง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ได้สั่งการให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.พันท้ายนรสิงห์ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ ทำการสำรวจรายชื่อชาวประมงและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีทั้งทางอาญา และทางแพ่ง กับทางเจ้าของเรือต่อไป ส่วนในแง่ของการป้องกันเหตุระดับจังหวัดนั้น ก็จะได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการฯ ที่มีการแต่งตั้งไว้แล้ว มาหารือเพื่อวางมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในการเฝ้าระวังเหตุและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในลักษณะเช่นนี้ต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ท.ทวีป เงินดี สารวัตรเวร สภ.โคกขามนั้น ก็บอกว่า หลังจากนี้จะได้สอบปากคำลูกเรือทั้ง 5 คน และติดตามตัวเจ้าของเรือมาสอบปากคำเพื่อแจ้งความดำเนินคดี และรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวประมงชายฝั่งต่อไป ส่วนข้อหานั้น จะต้องขอเวลารวบรวมหลักฐานให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตเดินเรือจากกรมเจ้าท่า รายละเอียดของเรือ ประเภทของสินค้าที่ขออนุญาตบรรทุก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ และหลักฐานอื่นๆ ประกอบ จึงจะแจ้งข้อหาที่ชัดเจนได้

ส่วนทางด้านของชาวบ้านก็บอกว่า ตอนนี้ผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ คราบน้ำมันสีดำเป็นก้อนๆ และมีลักษณะเหนียวหนืดที่ลอยเข้ามาบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น ได้มาจับติดอยู่ริมฝั่งและยังจับติดกับสัตว์ทะเลที่เลี้ยงไว้ด้วย เช่น ปูทะเล ทำให้ไม่สามารถที่จะนำไปบริโภคหรือขายได้.......ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 10.30 น. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายวินิตย์ ปิยะเมธาง รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร และคณะอีกเกือบ 20 คน ก็ได้ลงเรือของกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ไปตรวจติดตามการกู้เรือบรรทุกกากน้ำมันที่จมลงบริเวณปากอ่าวมหาชัย ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 7 เมษายน 2557 ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านมานานเกือบจะ 48 ชั้วโมงแล้ว แต่การกู้เรือก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจากการตรวจดูในครั้งนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า วิธีการที่ทางเจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือใช้เพื่อนำเรือขึ้นมาจากใต้ท้องทะเล คือ เอาถังน้ำมันใส่เข้าไปในห้องว่างของเรือ เพื่อให้ถังเข้าไปแทนที่น้ำนั้นไม่น่าที่จะใช้ได้ผล

สำหรับสภาพทั่วไปในวันนี้ พบว่าที่บริเวณปากคลองประมง หมู่ที่ 8 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อวานนั้น ในวันนี้กลับพบเพียงคราบน้ำมันบางๆ ลอยอยู่เพียงเล็กน้อย และมีคราบน้ำมันข้นหนืดสีดำติดอยู่ตามเสาที่ปักไว้ในคลองเท่านั้น แต่เมื่อห่างจากชายฝั่งออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เคียงกับฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่นั้น ก็มีคราบน้ำมันสีขาวขุ่นบ้าง สีน้ำตาลอ่อนบ้าง ลักษณะคล้ายกับแผ่นฟิล์มบางๆ ลอยอยู่กระจายตัวอยู่เป็นวงกว้างรัศมีประมาณ 10 เมตร และจุดที่พบคราบน้ำมันหนาแน่นลอยอยู่อีกจุดหนึ่งคือ บริเวณที่เรือบรรทุกกากน้ำมันจมอยู่ ซึ่งจะมีคราบน้ำมันสีดำและสีน้ำตาลเข้มลอยเป็นแพ รัศมีประมาณ 5 เมตร ตรงจุดนี้พบว่ามีปลาเล็กๆ ลอยตายอยู่บ้างแล้วแต่ก็ยังไม่มากนัก

ด้านนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ลงเรือตรวจติดตามสถานการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อขึ้นฝั่งก็ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จากการที่ได้ไปดูการกู้เรือบรรทุกกากน้ำมันในวันนี้ก็พบว่าการทำงานของบริษัทเอกชนที่มากู้เรือโดยการว่าจ้างจากเจ้าของเรือที่จมลงไปนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้สั่งการไปยังรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้ขอความร่วมมือกับทาง อบจ.สมุทรสาครและกรมเจ้าท่า ดำเนินการหาวิธีการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หรือให้ทำการว่าจ้างบริษัทอื่นมากู้เรือขึ้นให้ได้ภายในวันนี้ เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยไว้นานนั้นวาล์วน้ำมันที่ปิดอยู่จะเปิดออก หรือเรือเกิดรอยแตกขึ้นอีกอันเนื่องมาจากแรงน้ำที่เข้ามากระทบกระเทือน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ก็จะทำให้น้ำมันไหลออกมามากขึ้นและทำให้สถานการณ์กลายเป็นความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนคราบน้ำมันที่เห็นลอยอยู่บริเวณรอบๆ เรือที่จมอยู่นั้นก็มาจากการรั่วซึมของน้ำมันภายในเรือที่ยังคงมีออกมาตลอดเวลานั่นเอง ดังนั้นจึงต้องให้ทางจังหวัดเร่งกู้ซากเรือให้เร็วที่สุดนั่นเอง ส่วนปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรือบรรทุกกากน้ำมันที่จมลงนี้ ก็ได้มอบหมายให้ทางผู้นำท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น และให้ทางจังหวัดส่งเรื่องให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาดูแล แต่ส่วนผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็คือ เจ้าของเรือบรรทุกกากน้ำมันนั่นเองส่วนเรื่องผลกระทบอื่นๆ ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอย่างเร่งด่วนที่สุด เช่น กรมควบคุมมลพิษตรวจดูสารพิษที่ตกค้างในทะเล และกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เข้าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านนายธนกร ไพรรักษา รองประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงพันท้ายนรสิงห์ และตัวแทนชาวบ้านอีกเกือบ 20 คน ก็บอกว่า ขณะนี้ทางชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือบรรทุกกากน้ำมันจมลงที่บริเวณปากอ่าวมหาชัยแล้ว เช่น ชาวบ้านที่ทำประมงชายฝั่งไม่สามารถออกไปทำประมงได้เหมือนเดิม เพราะไม่มีปลาเข้ามาในบริเวณชายฝั่งทำให้ไม่สามารถจับปลาไปขายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงหอยแครงก็ไม่สามารถระบายน้ำเข้าน้ำออกได้ ถ้าเป็นเช่นนี้อีกเพียงแค่ราวๆ 10 วันเท่านั้น หอยแครงที่เลี้ยงไว้ก็จะตายลงค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าแปลงละล้านบาทอย่างแน่นอน ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่คงต้องใช้เวลาดูอีก 2 – 3 วันว่าจะเกิดผลกระทบด้วยหรือไม่ นอกจากนี้สิ่งที่เป็นผลตามมาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การรับซื้ออาหารทะเลนั้นมีพ่อค้าแม่ค้าบางราย งดรับซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงแถบนี้แล้ว เพราะเกรงอันตรายจากน้ำมันนั่นเอง ซึ่งชาวบ้านก็หวั่นว่าจะกระทบไปถึงการจำหน่ายอาหารทะเลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ด้วย ดังนั้นทางชาวบ้านเองก็จะเร่งหารือกันและหาทางออกปัญหาในเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คาดว่าน่าจะมีการพูดคุยกันหลังจากที่เรือบรรทุกกากน้ำมันจมลงครบ 3 วันแล้ว เพราะจะทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ส่วนสัตว์น้ำนั้นก็คงจะต้องขอให้กรมควบคุมมลพิษนำไปตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากสารน้ำมันนี้หรือไม่ เพื่อยืนยันความปลอดภัยให้ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นในการรับประทานอาหารทะเล หรือซื้อกุ้ง หอย ปู ปลา อาหารทะเลของจังหวัดสมุทรสาครไปรับประทาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น