pearleus

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2562

วช. จับมือเครือข่ายผลักดันแนวทางการเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ไมโครพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 เวลา 08.00 -16.00 น.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ WESTPAC มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เพื่อผลักดันแนวทางเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกเพื่อการวิจัย  ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร



โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Prof.Dr. Daogi Li,East China Normal University,Shanghai,China ร่วมแถลงความร่วมมือทางวิชาการ

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบัน ปัญหาผลกระทบของขยะพลาสติกตกค้างมากกว่าการเป็นขยะในแหล่งน้ำและส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำ เช่น พยูนมาเรียมน้อย หรือเศษขยะพลาสติกขนาดใหญ่ตกค้างในร่างกายของสัตว์น้ำ  วช.มองว่าการย่อยสลายของพลาสติก การตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตและห่วงโซ่อาหาร เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมีการกำหนดขนาดของไมโครพลาสติกเพื่อเทียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับต่างประเทศ ที่ขณะนี้ ยังไม่มีการกำหนดขนาดของไมโครพลาสติก ทำให้เปรียบเทียบการตกค้างหรือความรุนแรงของปัญหาไม่ได้ อีกทั้งยังมีประเด็นวิธีการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของแต่ละหน่วยงานวิจัยที่มีความแตกต่างกันและในบางประเด็นไม่มีการกำหนดวิธีการไว้ จึงเป็นการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัยเอง ทำให้อาจมีปัญหาในการเปรียบเทียบผลการวิจัย

ดังนั้นจึงได้มีการร่วมหารือดังกล่าว กับหน่วยงานเครือข่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นแนวทางในการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต และเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของนักวิจัยหรือบุคคลที่สนใจในการวิเคราะห์ไมโครพลาสติก






ทั้งนี้การที่สังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการใช้พลาสติกและขยะพลาสติกกันมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การกำหนดแผนงานการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ โครงการท้าทายไทย ชื่อ “ทะเลไทย...ไร้ขยะ” ซึ่งกำลังดำเนินการได้ดีอยู่ ในปัจจุบัน

"เนื่องจากมีการพบว่า ไมโครพลาสติกมีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำ ดิน และตะกอนดินในหลายพื้นที่ของประเทศ และมีความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยในอีกหลายประเด็นของหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศทั้งในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งการติดตามสถานการณ์การตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของหน่วยงานวิจัยมีความแตกต่างกันและในบางประเด็นไม่มีกำหนดวิธีการไว้ จึงเป็นการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัยเอง ทำให้อาจมีปัญหาในการเปรียบเทียบผลการวิจัย"ผอ.สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น